'หอการค้า' ชี้การเมืองไม่ชัด ฉุดดัชนีเชื่อมั่นฯ ลด
"หอการค้าไทย" เผยดัชนีความเชื่อมั่นเดือนมี.ค.ลด กังวลสถานการณ์การเมืองไม่ชัดเจน แนะรัฐสร้างเสถียรภาพและความชัดเจนทางการเมืองของประเทศไทย
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนมีนาคม 2562 ว่า อยู่ที่ระดับ 48.4 ปรับลดลงจากเดือน กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 48.5 แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นเริ่มมีสัญญาณปรับลดลง สำหรับปัจจัยบวก ได้แก่ เฟด คงดอกเบี้ยที่ระดับ 2.25 - 2.50% ส่งออกไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขยายตัว5.91% มีมูลค่า 21,553ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านสงครามการค้าจีนและสหรัฐฯเริ่มคลี่คลาย นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น หลังมีการยกเลิกค่าธรรมเนียม VISA on Arrival และค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
ส่วนปัจจัยลบ คือ ความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลและความไม่แน่นอนทางการเมือง SET Index เดือนมีนาคม 2562 ปรับตัวลดลง 14.83 จุด เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดประมาณการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2562 เหลือ 3.8% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 4%
ทั้งนี้ หอการค้าไทย แนะภาครัฐควรหามาตรการในเชิงรูปธรรม เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับยุค Disruptive Technology และภาครัฐควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศให้สามารถเข้าถึงนวัตกรรมได้ พร้อมทั้งควรกระตุ้นการท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆในทุกพื้นที่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ และสร้างเสถียรภาพและความชัดเจนทางการเมืองของประเทศไทย นอกจากนี้ หอการค้าไทย เตรียมจัดงาน หอการค้าแฟร์ ที่จังหวัดขอนแก่น วันที่ 28 มิถุนายน - 7 กรกฎาคม 2562 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ขอนแก่น โดยมีบริษัทเข้าร่วมงานกว่า 300 คูหา บนพื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตร คาดจะมีผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 100,000 คน เงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
ด้านนางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ากระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการตรวจสอบและคำนวณผลกระทบต่อดัชนีราคาผู้บริโภค(เงินเฟ้อ)ภายหลังมีการปรับขึ้นค่าโดยสารรถสาธารณะ เพราะค่าโดยสารรถสาธารณะคิดเป็นสัดส่วน 2% ของรายการที่นำมาคำนวณเงินเฟ้อ เบื้องต้นอาจกระทบต่อเงินเฟ้อรวมไม่สูงเพราะค่าโดยสารกระทบต่อค่าใช้จ่ายประชาชนที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก อาจทำให้ระมัดระวังการใช้จ่ายเงินมากขึ้น แต่ไม่ได้กระทบตรงต่อต้นทุนผลิตและการขนส่งเหมือนกับขึ้นราคาพลังงาน ดังนั้น จะไม่มีผลโดยตรงที่จะอ้างปรับราคาสินค้าหรืออาหารจานด่วน “เบื้องต้นการปรับค่าโดยสารสาธารณะ น่าจะมีกระทบต่อเงินเฟ้อไม่ถึง 1% แน่นอน และไม่เป็นปัจจัยกดดันเรื่องราคาสินค้า ไม่เหมือนราคาพลังงาน ราคาสินค้าเกษตร ค่าใช้จ่ายด้านมือถือ หรือค่าเช่าบ้าน ซึ่งรวมกันแล้วสูงถึง 40% ก็จะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อโดยตรง”
ขณะที่นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมืออากาศร้อนและภัยแล้งจากนี้ว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตอนนี้ยังไม่ถือว่าเป็นภัยแล้ง แต่อากาศร้อนอบอ้าวกว่าปกติ ซึ่งยอมรับว่ากำลังมีผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืชในหลายพื้นที่แล้ว เช่น ปลูกข้าวนาปรัง คาดว่าอากาศที่ร้อนมากจะทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังต่ำกว่าคาดการณ์ หรือต่ำกว่า 7.5 ล้านตัน รวมถึงผักใบบางชนิดเสียหายและมีผลต่อราคาสูงขึ้น เช่น ผักสำหรับทำสลัด พบว่าราคาขยับแล้ว 30% รวมถึงผักปวยเล้ง ผักกวางตุ้ง ส่วนมะนาวราคาสูงตามฤดูกาลหน้าร้อนอยู่แล้ว
นายวิชัย กล่าวว่า ในส่วนของผลไม้ ชนิดที่ผลผลิตส่วนใหญ่ออกสู่ตลาดแล้วไม่น่าเป็นห่วง เช่น ทุเรียน มังคุด ที่ต้องติดตามใกล้ชิด อย่างลองกอง เงาะ ลำไย ที่อยู่ระหว่างเพาะปลูก รวมถึงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อาจมีผลผลิตลดลงเหลือ 4.5 ล้านตันจากเดิมคาดไว้กว่า 5 ล้านตัน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการผลิตอาหารสัตว์ ก็จะหาพืชอื่นทดแทน เช่น ปลายข้าว