กรมชลฯ เกาะติดสถานการณ์แล้ง 6 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
"กรมชลฯ" เกาะติดสถานการณ์แล้ง 6 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ส่งน้ำช่วยผลิตประปา จ.เลย อุดรฯป้องขาดน้ำกินใช้ คุมเข้มการบริหารจัดการ เร่งเพิ่มน้ำต้นทุน
เมื่อวันที่ 28 เม.ย.62 นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคอีสานตอนบนหรือลุ่มน้ำโขงตอนบน 6 จังหวัด คือ เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย สกลนคร และบึงกาฬ โดยบอกว่า ขณะนี้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ น้ำเพื่อการเกษตรไม่มีความเสี่ยงที่จะขาดแคลน ซึ่งได้วางแผนให้ปลูกพืชฤดูแล้งไม่ว่าจะเป็นการทำนาปรัง พืชไร่ พืชผัก มันสำปะหลัง อ้อย จำนวนรวม 152,670 ไร่ แต่ปลูกจริงประมาณ 138,820 ไร่เท่านั้น ทำให้มีน้ำเพียงพอที่จะใช้เพื่อการเกษตรไปจนถึงสิ้นฤดูแล้งอย่างแน่นอน แม้ฝนอาจจะมาล่าช้าไปบ้างก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ที่จะต้องเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษคือ น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และผลิตน้ำประปา พบว่า อาจมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำบางจุด เช่น อ.เมืองเลย เขตเทศบาลเมืองหนองบัวลำภู ต.บ้านแวง จ.อุดรธานี เป็นต้น ซึ่งกรมชลประทานได้ลงพื้นที่บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น ป้องกันภัยจังหวัด (ปภ.) ท้องถิ่นจังหวัด การประปาส่วนภูมิภาค เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาไว้ล่วงหน้าแล้ว
โดยในส่วนของ อ.เมืองเลย ปกติจะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำหมานเป็นน้ำต้นทุนผลิตน้ำประปา แต่ปีนี้มีความเสี่ยงที่น้ำจะไม่เพียงพอ กรมชลประทานจึงระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำน้ำเลยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ภูหลวง ลงมาตามลำน้ำเลย วันละประมาณ 150,000 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) และสูบเก็บในสระเก็บน้ำของการประปาจังหวัดเลย ซึ่งขณะนี้อ่าง ฯ ห้วยน้ำหมานมีปริมาณน้ำใช้การ 9.2 ล้านลบ.ม. เพียงพอเพื่อผลิตน้ำประปาได้ตามปกติตลอดฤดูแล้งนี้
ส่วนเทศบาลเมืองหนองบัวลำภู ซึ่งจะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยเหล่ายางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อการผลิตน้ำประปาเดือนละ 200,000 ลบ.ม. ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม2562 ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำในอ่างฯทั้งสิ้น 500,000 ลบ.ม. มีความเสี่ยงที่น้ำไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงได้ทำการสูบน้ำจากสระภูพานทองมาเติมจำนวน 100,000 ลบ.ม. ทำให้มีน้ำเพียงพอผลิตน้ำประปาไปได้จนถึงสิ้นสุดฤดูแล้งในช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 อย่างแน่นอน
สำหรับพื้นที่ที่ติดแม่น้ำโขง เช่น อ.ท่าบ่อ อ.โพธิ์ตาก และ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เป็นต้น จะมีน้ำใช้ไม่ขาดเนื่องจากมีประตูระบายน้ำห้วยโมง ช่วยกักน้ำในลำห้วยโมงเพื่อราษฎรสองฝั่งลำห้วยสามารถนำน้ำไปใช้ได้ตลอดปี และส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์อีก 54,000 ไร่ อีกทั้งยังมีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าริมน้ำโมง สามารถดำเนินการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเติมในลำห้วยโมงในฤดูแล้งเพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนสำหรับการเกษตร การอุปโภค-บริโภค และประปาหมู่บ้าน
โดยได้ทำการสูบมาตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562จ นถึงปัจจุบัน คิดเป็นปริมาณน้ำจำนวน 13 ล้านลบ.ม. รวมทั้งพื้นที่ในบริเวณแก้มลิงหนองหมัด อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ก็จะมีน้ำใช้ตลอดฤดูแล้งเช่นกัน เนื่องจากกรมชลประทานได้ไปดำเนินการสร้างฝายหนองหมัดเพื่อกักน้ำไว้ในแก้มลิงหนองหมัด พร้อมทำการขุดลอกใหม่ทำให้สามารถเก็บน้ำได้เพิ่มอีก 3.8 ล้านลบ.ม. และยังจะดำเนินการขุดลอกจนกระทั่งเก็บน้ำได้ถึง 6.2 ล้านลบ.ม. เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับการเกษตร การประมง อุปโภคบริโภค ผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน
“ขณะนี้กรมชลประทานได้ทำงานประสานกับส่วนท้องถิ่น จัดเตรียมรถบรรทุกน้ำ รถแบคโฮ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เพื่อสนับสนุนภารกิจเฝ้าระวังภัยแล้งทั้งในและนอกเขตชลประทานไปจนกระทั่งเข้าฤดูฝน หากราษฎรมีข้อติดขัดด้านการใช้น้ำสามารถติดต่อหน่วยงานของกรมชลประทานในพื้นได้ หรือ ที่ ศูนย์ดำรงธรรม หรือ 1460 สายด่วนชลประทาน ซึ่งพร้อมจะออกไปให้การช่วยเหลือตลอดเวลาทุกพื้นที่” นายทองเปลว กล่าว