ก.ต.ศาล สั่งตั้ง กก.สอบข้อเท็จจริง อธ.คดีอาญาทุจริตฯภาค 8 ปมคลิปใบขับขี่
ก.ต.ศาล สั่งตั้ง กก.สอบข้อเท็จจริง อธ.คดีอาญาทุจริตฯภาค 8 ปมคลิปใบขับขี่
เมื่อวันที่ 13 พ.ค.62 เวลา 09.30 น.ที่ห้องประชุมชั้น 3 ศาลฎีกา สนามหลวง คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ได้นัดประชุม ก.ต.ครั้งที่ 6/2562 ที่มีนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ก.ต. ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติในเรื่องต่างๆ โดยมีวาระประชุมหลายเรื่อง ทั้งเห็นชอบการโยกย้ายข้าราชการตุลาการ สับเปลี่ยนตำแหน่งชั้น 3 และชั้น 4 เห็นชอบการแต่งตั้งบัญชีผู้พิพากษาอาวุโส วาระพิเศษ 1 ส.ค.62 และวาระที่ ก.ต.รับทราบ นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ที่ได้รับเลือกเป็น ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ สัดส่วนบุคคลภายนอกเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 62 ซึ่งได้รับเลือกจากผู้พิพากษาตามกฎหมายใหม่ มาตรา 36 (3) พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ได้ขอลาออกจากการเป็น ก.ต.ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.62
โดยวาระที่ ก.ต. เห็นชอบโยกย้ายตั้งสับเปลี่ยนตำแหน่งผู้พิพากษาที่น่าสนใจ ได้แก่ การแต่งตั้งผู้พิพากษาระดับชั้นศาลอุทธรณ์ขึ้นไป มาดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีศาลอาญาและศาลแพ่งมีนบุรี , ตลิ่งชัน และพระโขนง เป็นชุดแรก ภายหลังจากที่ได้มีการประกาศยกฐานะของศาลจังหวัดมีนบุรี , ศาลจังหวัดตลิ่งชัน และศาลจังหวัดพระโขนง ให้มาเป็นศาลอาญาและศาลแพ่ง ในพื้นที่เขตอำนาจศาลทั้ง 3 แห่งดังกล่าว ซึ่งมีการประกาศเป็นกฎหมายลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของผู้บริหารศาลอาญามีนบุรี ประกอบด้วย นายภิญโญ แสงภู่ รองประธานอุทธรณ์ภาค 1 เป็น อธิบดีศาลอาญามีนบุรี , นายนพรัตน์ อักษร ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นรองอธิบดีศาลอาญามีนบุรี , นางสุภาวิทยาอารีย์กุล ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์ เป็น รองอธิบดีศาลอาญามีนบุรี
ผู้บริหารในศาลอาญาตลิ่งชัน ประกอบด้วย นายสนิท ตระกูลพรายงาม รองประธานอุทธรณ์ภาค 1 เป็นอธิบดีศาลอาญาตลิ่งชัน , นางอัจฉรา สุระคำแหง ผู้ช่วยผู้พิพากษาในศาลฎีกา เป็นรองอธิบดีศาลอาญาตลิ่งชัน , นางจรีรัตน์ ตันติเวชกุล รองเลขาฯ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม เป็นรองอธิบดีศาลอาญาตลิ่งชัน
ผู้บริหารในศาลอาญาพระโขนง ประกอบด้วย นายเชวง ชูศิริ เลขาธิการประธานฎีกา เป็นอธิบดีศาลอาญาพระโขนง , นายจรูญ นาคเสน ผู้ช่วยผู้พิพากษาในศาลฎีกา เป็นรองอธิบดีศาลอาญาพระโขนง , นายดิลก เสริมวิริยะกุล ผู้ช่วยผู้พิพากษาในศาลฎีกา เป็นรองอธิบดีศาลอาญาพระโขนง
ผู้บริหารในศาลแพ่งตลิ่งชัน ประกอบด้วย นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาในศาลฎีกา เป็น อธิบดีศาลแพ่งตลิ่งชัน , นายโตมร สิริวัฒน์ภากร ผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์ประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ (ภาษี) เป็น รองอธิบดีศาลแพ่งตลิ่งชัน
ผู้บริหารในศาลแพ่งพระโขนง ประกอบด้วย นายอดุลย์ ขันทอง ผู้ช่วยผู้พิพากษาในศาลฎีกา เป็นอธิบดีศาลแพ่งพระโขนง , นายสุรพล นิตินัยวินิจ หัวหน้าศาลแรงงานภาค 2 เป็น รองอธิบดีศาลแพ่งพระโขนง
ผู้บริหารในศาลแพ่งมีนบุรี ประกอบด้วย นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข หัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ(แรงงาน) เป็นอธิบดีศาลแพ่งมีนบุรี , นายภมร สัตตภรณ์พิภพ ผู้ช่วยผู้พิพากษาในศาลฎีกา เป็นรองอธิบดีศาลแพ่งมีนบุรี โดยการแต่งตั้งดังกล่าวให้มีผลตั้งแต่ 1 ส.ค. 62 เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุม ก.ต. วันนี้ นอกจากวาระปกติในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายและรับทราบในเรื่องต่างๆ แล้ว ในการประชุมก็ยังได้หยิบยกเรื่องที่ปรากฏเป็นข่าวดังเกี่ยวกับคลิปการขอตรวจใบขับขี่บุคคลซึ่งถูกอ้างชื่อว่าเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 และในคลิปก็มีการกล่าวอ้างว่าเป็นเพื่อน ผกก. คนหนึ่งในพื้นที่ด้วย
โดย นายสุริยันต์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้กล่าวถึงการแต่งตั้งอธิบดีศาลอาญาและศาลแพ่งมีนบุรี ตลิ่งชัน และพระโขนงชุดใหม่ว่า ก็เป็นไปตามที่ได้มีการ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาพระโขนง และศาลอาญามีนบุรี พ.ศ.2562 ที่ได้มีการยกฐานะจากศาลจังหวัดขึ้นมาเป็นศาลอาญาและศาลแพ่ง ที่ได้แบ่งอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการคดี โดยคณะผู้บริหารที่แต่งตั้งใหม่ในครั้งนี้ ก็ถือเป็นผู้บริหารชุดแรก เมื่อมีการจัดตั้งศาลอาญาและศาลแพ่งทั้ง 3 พื้นที่ตามกฎหมายใหม่
ขณะที่ นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะเลขานุการ ก.ต. ได้กล่าวถึงกรณีที่ประชุม ก.ต.ได้หยิบยกประเด็นคลิปดังพาดพิงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 มาหารือว่า วันนี้ที่ประชุม ก.ต. มีมติให้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีปรากฏคลิปภาพนายไกรรัตน์ วีรพัฒนาสุวรรณ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 โดนเรียกตรวจใบขับขี่ จนมีการกระทบกระทั่งกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณด่านตรวจในพื้นที่ สภ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งศาลยุติธรรมจะตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวให้รอบด้านเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าที่มีนำประเด็นดังกล่าวมาตรวจสอบในที่ประชุม ก.ต.นั้น หลังมีการเผยแพร่ที่เกิดเหตุวันที่ 2 พ.ค.62 สำนักงานศาลยุติธรรม โดยเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมและเลขานุการ ก.ต.ได้มีหนังสือวันที่ 10 พ.ค. แจ้งถึงนายไกรรัตน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 8 รายงานข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวมายังสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อพิจารณารวบรวมข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อจะเสนอประธานศาลฎีกาและที่ประชุม ก.ต.รับทราบเรื่องเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญหรือร้ายแรงเกี่ยวกับองค์กรหรือผู้พิพากษาตามขั้นตอน โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 8 ได้ทำหนังสือรายงานข้อเท็จจริงเสร็จส่งกลับมายังสำนักงานศาลยุติธรรมในวันที่ 10 พ.ค.แล้ว ในการประชุม ก.ต.วันนี้ (13 พ.ค.) จึงมีการนำเรื่องดังกล่าวเสนอให้ที่ประชุม ก.ต.รับทราบและพิจารณา กระทั่ง ก.ต.มติตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในชั้นต้นดังกล่าว
สำหรับคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงนั้น เมื่อผู้ที่ต้องถูกสอบเป็นระดับอธิบดีผู้พิพากษา ผู้จะทำหน้าที่เป็นกรรมการตรวจสอบก็จะเป็นผู้พิพากษาระดับศาลสูงในชั้นศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ซึ่งการตรวจสอบนั้นต้องพิจารณาคำชี้แจง-หลักฐานที่ปรากฏว่า พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวอ้างนั้นมีมูลที่จะกระทำผิดวินัยหรือไม่ โดยการสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้นนี้ ก็จะใช้เวลาอย่างน้อย 30-45 วัน ซึ่งการสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงชั้นต้นไปยังคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) พิจารณากลั่นกรองทำความเห็นเสนอที่ประชุม ก.ต.ชุดใหญ่ 15 คนที่มีประธานศาลฎีกาเป็นประธานพิจารณาต่อไป