'เอ็นซีพี' ชี้ท่าเรือลัดขั้นตอน ตัดสิทธิประมูลแหลมฉบัง
“เอ็นซีพี” ชี้การท่าเรือฯ ข้ามขั้นตอนตัดสิทธิประมูลแหลมฉบังเฟส 3 ไม่ส่งรายงานพร้อมเหตุผลคณะกรรมการอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างเผยยังลุ้นกลับเข้าสู่การประมูลพร้อมฟ้องศาลปกครอง
นายเผด็จ เมธิยานนท์ ผู้แทนกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี เปิดเผยว่า วันที่ 16 พ.ค. กลุ่มเอ็นซีพีได้รับเอกสารแจ้งทางอีเมล์จากคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 (ท่าเทียบเรือ F) เกี่ยวกับมติให้ยืนตามมติเดิมที่ตัดสิทธิ์กลุ่มเอ็นซีพี โดยไม่ได้มีการแจ้งว่าจะรายงานไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามแนววินิจฉัยของศาลปกครองกลาง ที่ให้ปฎิบัติตามขั้นตอน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560กรณีที่หน่วยงานของรัฐพิจารณาและไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ต้องส่งรายงานพร้อมเหตุผลไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 3 วัน หลังจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาคำอุทธรณ์ของกลุ่มเอ็นซีพีแล้วเสร็จ
การท่าเรือยังมีความไม่ชอบธรรมกล่าวคือ 1.จงใจละเว้นไม่ปฎิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ จัดซื้อจัดจ้าง ปี 2560 โดยพยายามเอื้อประโยชน์ให้กับอีกฝ่าย ทำให้การท่าเรือและรัฐเสียหาย โดยไม่จัดส่งคำพิจารณาอุทธรณ์ของการท่าเรือตามที่กฎหมายกำหนด 2.มีเจตนาจงใจขัดและ/หรือไม่ปฎิบัติตามคำวินิจฉัยของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเรื่องให้การท่าเรือและคณะกรรมการEECทบทวนมติของคณะกรรมการคัดเลือก โดยไม่สนใจและเจตนาละเว้นการทบทวนมติที่มิชอบดังกล่าวและพยายามผลักดันให้อีกฝ่ายชนะการประมูล อันเป็นเหตุทำให้รัฐเสียหายไม่น้อยกว่า 43,000ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน 35ปี
3.คณะกรรมการคัดเลือกมีมติโดยไม่ฟังหรือทักท้วงข้อกฎหมายซึ่งเป็นสาระสำคัญจากกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งมีความเห็นทางกฎหมายสอดคล้องกันกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินว่ากลุ่มบริษัทกิจการร่วมค้า NCP มีคุณสมบัติครบถ้วนในการผ่านในซอง 2 โดยชอบด้วยกฎหมาย
4.คดีนี้กลุ่มบริษัทกิจการร่วมค้า NCP ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางและศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องในวันที่ 7พ.ค 62 โดยระบุในคำสั่งศาลว่าสามารถฟ้องใหม่ได้ในภายหลัง ดังนั้นการท่าเรือและคณะกรรมการEECจะต้องดำเนินการทบทวนตามคำสั่งของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเพราะถือว่ายังไม่มีคดีของกลุ่มNCPอยู่ในศาลปกครองเลย ดังนั้นการท่าเรือและคณะกรรมการEEC ไม่สามารถอ้างว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลปกครองแล้ว จึงไม่ต้องทบทวนตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน
และ 5.ถ้ามีกรณีการกระทำอันส่อไปในทางทุจริต เอื้อประโยชน์ ไม่เป็นธรรมหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว กลุ่มบริษัท NCP มีความจำเป็นจะต้องดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญากับขบวนการผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดต่างหากจากการฟ้องศาลปกครองด้วย
“กลุ่มเอ็นซีพีกำลังรอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่มีกรอบเวลา 30 วัน โดยถ้าผลการพิจารณาเป็นคุณต่อกลุ่มเอ็นซีพีก็จะได้กลับเข้าไปสู่กระบวนการคัดเลือกอีกครั้ง แต่ถ้าหากผลการพิจารณาไม่เป็นคุณต่อกลุ่มเอ็นซีพีก็จะดำเนินการฟ้องศาลปกครองต่อไป รวมทั้งกำลังทำหนังสือถึงทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความเป็นธรรมในการประมูลครั้งนี้” นายเผด็จย้ำ
สำหรับ การประมูลพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มีผู้ยื่นซองประมูลเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา 2 กลุ่ม คือ 1.กิจการร่วมค้าจีพีซี ประกอบด้วย บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (กลุ่ม ปตท.) บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ China Harbour Engineering Company Limited 2.กิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ประกอบด้วย บริษัทแอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด บริษัทนทลิน จำกัด บริษัทพริมา มารีน จำกัด (มหาชน) บริษัทพีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิ่ง จำกัด และ China Railway Construction Corporation Limited.