แพทย์แผนไทย แนะเสริมเกราะป้องกันโรคความดันโลหิตสูง
แพทย์แผนไทยแนะเสริมเกราะป้องกันโรคความดันโลหิตสูงด้วยพืชสมุนไพร ผักพื้นบ้าน ชูเมนูอาหารทำง่าย ยำตะไคร้ ป้องกันและลดภาวะความดันโลหิตสูงเนื่องในวัน “ความดันโลหิตสูงโลก”
นายแพทย์สรรพงศ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในฐานะรองโฆษกกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) และสมาคมโรคความดันโลหิตสูงนานาชาติ (International Society of Hypertension) ได้กำหนดให้วันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลกโดยในปีนี้ ยังใช้คำขวัญเพื่อรณรงค์วันความดันโลหิตสูงโลกเหมือนปีที่ผ่านมา คือ Know Your Number “ท่านทราบระดับความดันโลหิตของท่านหรือไม่” โรคความดันโลหิตสูงหรือภาวะความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง สาเหตุเกิดจากการบริโภคอาหารรสเค็ม สูบบุหรี่ ติดสุรา โรคเบาหวาน ผู้ที่มีรูปร่างอ้วน พันธุกรรม ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น อาการของโรคความดันโลหิตสูงจะแสดงอาการ เมื่อถึงขั้นวิกฤตและมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นเวลานาน อาการที่พบ เช่น ปวดศีรษะบริเวณท้ายทอยในตอนเช้า อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน บางรายอาจตาพร่ามัวร่วมด้วย หากมีอาการรุนแรงหรือความดันโลหิตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจมีอาการเลือดกำเดาไหล เหนื่อยง่าย และเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ทั้งนี้ คนปกติจะมีความดันโลหิตประมาณ 120/80 มม.ปรอท – 140/90 มม.ปรอท หากสูงกว่านี้ทั้งตัวบนและตัวล่างถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลง
เนื่องจากสาเหตุหลัก ๆ มาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ดังนั้น มีการนำพืชผักพื้นบ้านมาปรุงเป็นอาหาร เพื่อป้องกันและรักษาภาวะความดันโลหิตสูง ตัวอย่าง เช่น ตะไคร้ ใบบัวบก ใบย่านาง มะรุม กระเจี๊ยบ กระเทียม ขิง หม่อน กะเพรา ฯ เมนูที่จะขอแนะนำในวันนี้คือ ยำตะไคร้ เนื่องจากตะไคร้เป็นที่รู้จักกันดี สามารถหาได้ง่ายในชุมชน และตะไคร้มีฤทธิ์ช่วยขับปัสสาวะ แก้อาการขัดเบา ซึ่งมีผลช่วยลดความดันโลหิตได้เป็นอย่างดี วิธีทำ คือ นำโปรตีน 100 กรัม (หมู ไก่ ปลา) ผสมกับตะไคร้ซอย 6 ต้น หอมแดงซอย 2 หัว พริกขี้หนูซอย 2 เม็ด น้ำมะนาว 3 ช้อนโต๊ะ น้ำตาลปี๊บ 2 ช้อนชา น้ำปลา 1 ช้อนชา คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วตักใส่จาน โรยหน้าด้วยถั่วลิสงคั่วและใบสะระแหน่ น้ำสมุนไพรที่ช่วยลดความดันโลหิต ได้แก่ น้ำบัวบก น้ำตะไคร้ น้ำใบเตยน้ำขิง ฯ
ส่วนยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติคือ ยาหญ้าหนวดแมว และยากระเจี๊ยบแดง ยาทั้ง 2 ชนิดมีสรรพคุณขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิตแต่ยาทั้ง 2 ชนิดนี้ ไม่ควรใช้ในผู้ที่มีการทำงานของหัวใจและไตบกพร่อง เนื่องจากมีแร่ธาตุโพแทสเซียมสูง ทำอาการของโรคหัวใจและโรคไตกำเริบ
นอกจากนี้ ก็ควรที่จะออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ จำกัดการบริโภคอาหารรสหวานจัด เค็มจัด และอาหารไขมันสูง หากิจกรรมนันทนาการผ่อนคลายความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ เป็นต้น เพียงเท่านี้ ชีวิตคนเราก็จะห่างไกลกับโรคความดันโลหิตสูง และไม่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงในอนาคตข้างหน้า หากต้องการทราบข้อมูลสรรพคุณของสมุนไพร สามารถดูได้จากแอพพลิเคชั่น “สมุนไพรเฟิร์ส” หรือสอบถามได้ที่ Call Center 0 2591 7007 ต่อกองวิชาการและแผนงาน