แนะครอบครัวสร้างกติกาการใช้หน้าจอร่วมกัน

แนะครอบครัวสร้างกติกาการใช้หน้าจอร่วมกัน

กรมสุขภาพจิต แนะครอบครัวสร้างกติกาการใช้หน้าจอร่วมกัน ผ่านการตอบคำถาม 4 ข้อ

 วันนี้ (17 พฤษภาคม 2562) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การใช้เวลาอยู่หน้าจอของเด็กโดยปราศจากการควบคุมที่ดีของพ่อแม่นั้น ทำให้เกิดผลกระทบได้หลายประการ เช่น ทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ช้าลง ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพกาย เช่น สายตา หรือโรคอ้วน ทำให้อาการด้านสุขภาพจิตรุนแรงมากขึ้น เช่น สมาธิสั้น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และยังสูญเสียโอกาสในการใช้เวลาเพื่อทำกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ นอกจากนั้น การใช้เวลากับหน้าจอเป็นเวลานานย่อมทำให้มีโอกาสได้รับเนื้อหาที่รุนแรงง่ายขึ้น เช่น การถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ภาพความรุนแรง ภาพลามกอนาจาร ความเชื่อผิดๆ ทางสังคม

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า เรื่องการใช้เวลาหน้าจอ ทั้งการใช้โทรศัพท์มือถือ การดูโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ต พ่อแม่ควรทำข้อตกลงร่วมกันในครอบครัวอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแง่ระยะเวลาของการใช้งาน เนื้อหาที่เหมาะสม และการกำกับดูแล โดยครอบครัวควรปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อตอบคำถาม 4 ข้อ ดังต่อไปนี้ 

1. ครอบครัวมีการควบคุมเวลาหน้าจอหรือไม่?โดยในเด็กเล็กควรมีการควบคุมเวลา โดยผู้ปกครองอย่างใกล้ชิดเป็นหลัก ไม่ควรใช้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ ส่วนเด็กวัยรุ่นควรมีการสอนให้ฝึกควบคุมด้วยตนเองและมีผู้ปกครองคอยแนะนำ และผู้ใหญ่ในบ้านเองก็ควรต้องมีการควบคุมด้วย เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีกับเด็กในบ้าน 

2. การใช้หน้าจอส่งผลต่อกิจกรรมครอบครัวหรือไม่?เวลาที่มีคุณภาพของครอบครัวเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตของสมาชิกในบ้าน เราจึงควรงดการใช้หน้าจอรูปแบบต่างๆ ในขณะที่ทำกิจกรรมของครอบครัว เช่น ระหว่างรับประทานอาหารร่วมกัน ควรงดการหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาใช้งาน เพื่อให้เป็นเวลาที่ครอบครัวได้มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างมีคุณภาพที่สุด

3. การใช้หน้าจอรบกวนการนอนหรือไม่?มีงานวิจัยจำนวนมากในเด็กและผู้ใหญ่ที่กล่าวถึงผลกระทบของการใช้หน้าจอในช่วงก่อนนอน ว่าสามารถส่งผลต่อคุณภาพก่อนนอนและส่งผลต่อปัญหาการเรียน การทำงาน และสุขภาพจิตอย่างมากมาย ครอบครัวจึงควรกำหนดช่วงเวลา 1 ชั่วโมงก่อนนอนเป็นช่วงเวลาปลอดหน้าจอสำหรับทุกคนในบ้าน 

4. สามารถควบคุมการกินระหว่างการใช้หน้าจอได้หรือไม่?ปัจจุบันนี้หลายครอบครัวมักรับประทานอาหารหน้าหน้าจอ ซึ่งก่อให้เกิดการรับประทานอาหารที่นานและปริมาณมากเกินจำเป็น รวมไปถึงการรับประทานขนมขบเคี้ยวที่มากขึ้นด้วย ครอบครัวจึงควรแยกการใช้หน้าจอ กับการรับประทานอาหารออกจากกัน เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดภาวะอ้วนในสมาชิกครอบครัว

สุดท้ายแล้ว หากครอบครัวสามารถควบคุมและลดเวลาที่ใช้ไปกับหน้าจอประเภทต่างๆ ได้ ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของทุกคนในครอบครัว โดยสมาชิกทุกคนควรดูแลซึ่งกันและกัน พยายามใช้เหตุผลในการพูดคุยถึงความจำเป็นของกฏระเบียบการใช้หน้าจอในบ้าน ไม่ต่อว่ารุนแรง พยายามให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และพยายามแสดงให้เห็นถึงความสุขจากการที่ได้ใช้เวลาคุณภาพร่วมกันโดยปราศจากหน้าจอ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว