กรมชลฯ ย้ำภัยแล้งอีก 2 เดือน มีน้ำเพียงพอ

กรมชลฯ ย้ำภัยแล้งอีก 2 เดือน มีน้ำเพียงพอ

"กรมชลฯ" แจงแม้ภัยแล้งยาวไปอีก 2 เดือน ยืนยันน้ำในเขตชลประทาน เพียงพอ

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าขอชี้แจงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่า จากสัญญาณภัยแล้งปีนี้ ที่มีผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจยาวนานขึ้นอีก 2 เดือน 

 

สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกประมาณเดือนละ 1,000 ล้านบาท หากภัยแล้งลากยาวไปจนถึงเดือนกรกฎาคม อาจทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมประมาณ 17,300 ล้านบาท นั้น กรมชลประทาน ได้จัดลำดับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้น้ำในพื้นที่ชลประทานทุกกิจกรรมตลอดช่วงฤดูแล้ง ได้แก่ การอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ สำรองน้ำสำหรับการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม การเกษตร และการอุตสาหกรรม


สถานการณ์น้ำปัจจุบัน(ณ 17 พ.ค. 62) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 40,808 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.)คิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 16,800 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำไปจนถึงเดือนกรกฎาคมนี้แน่นอน ถึงแม้ว่าในช่วงสิ้นสุดฤดูฝนในปี 2561 ที่ผ่านมา อ่างเก็บน้ำบางแห่งจะมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างและปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับใช้ในฤดูแล้งปี 2561/62 ในปริมาณที่จำกัด แต่กรมชลประทาน ได้วางแผนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด

 

โดยการกำหนดมาตรการบริหารจัดการแบ่งเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ที่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2561/62 ได้ และมีปริมาณน้ำเพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ อย่างเพียงพอใช้ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2562 ส่วนอีกพื้นที่ จะเป็นพื้นที่ที่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเฉพาะพืชใช้น้ำน้อย(พืชไร่-พืชผัก)เท่านั้น ซึ่งก็มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2562 เช่นกัน

 

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น กล่าวว่า ในปีนี้ตลอดช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา ถือว่าเป็นปีที่ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงที่สุดในรอบ 20 ปี ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนจากแหล่งน้ำต่างๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้หลายพื้นที่เผชิญกับปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ ทั้งนี้กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ให้ความช่วยเหลือน้ำอุปโภคบริโภค สำหรับผลิตน้ำประปา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร ในพื้นที่ดังต่อไปนี้


โครงการชลประทานกาฬสินธุ์ เข้าให้ความช่วยเหลือพื้นที่ ต.นาคู อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ พื้นที่ดังกล่าวใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยมะโน เป็นแหล่งน้ำหลักสำหรับใช้ผลิตน้ำประปา โดยดำเนินการขุดร่องชักน้ำเพื่อให้น้ำไหลเข้าไปยังด้านหน้าโรงสูบประปานาคูได้สะดวกขึ้น และทำการสูบน้ำเติมลงในร่องชักน้ำ เพื่อเพิ่มระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยมะโน


โครงการชลประทานมหาสารคาม บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือน้ำอุปโภคบริโภค สำหรับผลิตประปาท้องถิ่น ต.เม็กดำ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม ดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยการสนับสนุนรถบรรทุกน้ำ แจกจ่ายน้ำให้ราษฎรในพื้นที่ดังกล่าว


โครงการชลประทานขอนแก่น ให้ความช่วยเหลือน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภค ต.ดอนหัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ดำเนินการขุดลอกลำห้วยซัน บริเวณด้านหน้าและด้านท้ายที่ตื้นเขิน พร้อมทั้งชักน้ำมาเติมบริเวณหนองโง้ง เพื่อสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกผักปลอดสารพิษ จำนวน 150 ไร่ และสูบทอยเติมสระผลิตน้ำประปาหมู่บ้านโนนเขวา ตำบลดอนหัน อำเภอเมือง ซึ่งขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค


แม้ปัจจุบันจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวจะมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับผลิตประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค หรือเพียงพอต่อความต้องการแล้วก็ตาม แต่กรมชลประทานยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและเตรียมความพร้อมสำหรับการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องทั้งนี้กรมชลประทาน ขอความร่วมประชาชนทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อลดความเสี่ยงเกิด ปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคตด้วย