‘บาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘อ่อนค่า’ ที่ 31.83 บาทต่อดอลลาร์
ติดตามความเสี่ยงการเมืองยุโรปร้อนแรง หนุนดอลลาร์แข็งค่า และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ปัจจัยกดดันตลาดเงินและเงินบาท
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ31.83 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงปิดสิ้นสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 31.74 บาทต่อดอลลาร์
ในส่วนของเงินบาทสัปดาห์นี้ต้องติดตามทิศทางของค่าเงินดอลลาร์เป็นหลักเนื่องจากความเสี่ยงการเมืองในยุโรปที่ร้อนแรงขึ้นมีโอกาสกดดันให้เงินยูโรรวมถึงเงินปอนด์อ่อนค่าลงและหนุนให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
นอกจากนี้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจไทยอาทิจีดีพีไตรมาสแรกที่แย่กว่าคาดและชี้ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างชัดเจนจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดการเงินและค่าเงินบาทอย่างไรก็ดีเรามองว่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมากเพราะผู้ส่งออกจำนวนมากรอขายดอลลาร์หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ31.80 บาทต่อดอลลาร์
มองกรอบเงินบาทในวันนี้31.80 ถึง31.90 บาทต่อดอลลาร์และกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้31.50 ถึง32.00 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกวันที่21-24 พฤษภาคมมีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาหลายเรื่อง
เริ่มที่ฝั่งไทยในวันอังคารเราคาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกจะขยายตัวเพียง2.8% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นการชะลอตัวลงอย่างมากจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งเศรษฐกิจขยายตัวถึง3.7% ส่วนยอดส่งออกและนำเข้าในเดือนเมษายนที่จะรายงานในวันพุธมีแนวโน้มจะหดตัว1.6% และ4.3% ตามลำดับจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนสอดคล้องกับภาพรวมการค้าโลกที่ยังซบเซาจากความตึงเครียดทางการค้าและภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
ในฟากฝั่งเอเชียตลาดจะติดตามผลการเลือกตั้งทั่วไปในอินเดียซึ่งจะมีการประกาศในวันพธโดยคาดว่าพรรคBJP ของนายกรัฐมนตรีนเรนทราโมดิจะคว้าชัยชนะได้อีกสมัยและในวันศุกร์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่น(CPI) ในเดือนเมษายนจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ0.8% ทว่าระดับดังกล่าวยังห่างไกลจากเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่2% เราจึงเชื่อว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายตลอดทั้งปีนี้
ฝั่งสหรัฐในวันพฤหัสฯมองว่ารายงานการประชุมเฟดล่าสุดจะย้ำมุมมองว่าเฟดไม่เร่งรีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินและเฟดจะรอดูผลกระทบเศรษฐกิจจากปัจจัยเสี่ยงภายนอกอาทิสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่วนวันศุกร์คาดว่ายอดสั่งซื้อสินค้าคงทน(Durable Goods Orders) ในเดือนเมษายนจะหดตัว2% จากเดือนก่อนหน้าหลังจากขยายตัวถึง2.6% ในเดือนมีนาคมสอดคล้องกับภาพการชะลอตัวของภาคการผลิต
ฝั่งยุโรปคาดว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตของยูโรโซน(Manufacturing PMI) เดือนพฤษภาคมซึ่งจะรายงานในวันพฤหัสฯจะปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ48.2 จุดหนุนโดยการฟื้นตัวของภาคการผลิตในเยอรมันนอกจากนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเยอรมันจะช่วยให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมัน(Ifo Business Climate) ปรับตัวขึ้นแตะระดับ99.5 จุดและที่สำคัญในสัปดาห์นี้ระหว่างวันที่23-26 พฤษภาคมตลาดจะติดตามการเลือกตั้งสภายุโรป(European Parliament Election) โดยเราคาดว่าพรรคการเมืองที่เน้นนโยบายประชานิยมและไม่เห็นด้วยกับการรวมตัวของสหภาพยุโรปจะได้ที่นั่งในสภามากขึ้นทำให้ความเสี่ยงการเมืองยุโรปกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง