เลขากลต.-ดีเอสไอ เล็งใช้เอไอสืบสวนคดีอาชญากรรมในตลาดทุน ใช้ไอทีวิเคราะห์พฤติกรรมปั่นหุ้น พร้อมหารือปรับเอ็มโอยูให้สอดรับกฎหมายใหม่
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (กลต.) นำคณะผู้บริหารฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย กลต.เข้าหารือร่วมกับ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ
น.ส.รื่นวดี เปิดเผยว่า กลต.มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจในตลาดเงินและตลาดทุทุน ภายหลังเข้ารับตำแหน่งจึงนำทีมผู้บริหารของกลต.มาพูดคุยเพื่อประสานความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน ซึ่งที่ผ่านมาดีเอสไอและกลต.เคยทำบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยูร่วมกันตั้งแต่ปี 2548 จึงมีความคิดที่จะปรับปรุงเนื้อหาในเอ็มโอยูให้ตอบรับกับกฎหมายในปัจจุบัน
นอกจากนี้ทั้ง 2 หน่วยงานยังเห็นชอบร่วมกันที่จะบูรณาการงานสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน จากเดิมที่เคยแยกกันทำงานก็จะร่วมกันสืบสวนตั้งแต่เริ่มต้นคดีเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว รวมทั้งจะเชิญผู้แทนจากดีเอสไอเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาความผิดทางแพ่ง และกรรมการตรวจสอบความผิดทางอาญา ในด้านการเสริมสร้างศักยภาพให้กับบุคลากร กลต.จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายมาเข้าหลักสูตรพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและฝึกยุทธวิธีในการตรวจค้นและรวบรวมพยานหลักฐาน
น.ส.รื่นวดี กล่าวอีกว่า กระบวนการสืบสวนสอบสวนทางดิจิทัล สามารถนำเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์เข้ามาวิเคราะห์พฤติกรรม โดยการปรับปรุงบันทึกข้อตกลงใหม่จะระบุเนื้อหาถึงการนำเอไอ สมองกล มาใช้ในงานสืบสวน โดยกลต.ได้ทาบทามนักวิทยาศาสตร์ดาต้ามาเป็นที่ปรึกษากลต.เพื่อสร้างความมั่นในการใช้กฎหมาย และเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนอกจากนี้กลต.จะนำกรอบระยะเวลาในการดำเนินคดีประเภทต่างๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกรอบเวลาการสอบสวนของดีเอสไอมาเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินตัวชี้วัดของกลต.ด้วย เช่นที่ดีเอสไอกำหนดระยะเวลาในการสืบสวน 6 เดือน และสอบสวนไปจนถึงสรุปสำนวนสั่งคดีต้องไม่เกิน 1 ปี รวมถึงการวัดผลสำเร็จในการสั่งฟ้องคดีในชั้นอัยการและศาลตัดสินลงโทษกี่คดี
ขณะที่ พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมาดีเอสไอและกลต.ร่วมกันทำงานมาโดยตลอด แต่พบว่าหลายคดีในชั้นการสอบสวนต้องการหลักเพิ่มเติมจึงได้ร้องขอให้กลต.ส่งพยานหลักฐานมาพร้อมกับการเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อลดขั้นตอนการทำงาน และส่ามารถเริ่มสอบสวนได้เลย นอกจากนี้การกระทำความผิดเกี่ยวกับการสร้างราคาให้กับหลักทรัพย์มีวิธีการเปลี่ยนแปลงและมิติที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเริ่มต้นเข้าไปสืบสวนตั้งแต่เปิดคดีจะทำให้งานสอบสวนมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยดีเอสไอได้ขอให้กลต.รวบรวมวิธีการการกระทำความผิดในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมในการกระทำความผิด
พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวอีกว่า มั่นใจว่าการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกลต.และดีเอสไอจะทำให้การกระทำความผิดในตลาดหลักทรัพย์ทำได้ยากขึ้น และจำนวนคดีก็จะลดลงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน สำหรับคดีที่กลต.ร้องทุกข์กล่าวโทษมายังดีเอสไอขณะนี้มีจำนวนกว่า 100 สำนวนคดี ดีเอสไอได้สรุปสำนวนสั่งฟ้อง และส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปแล้ว เหลือคดีค้างที่อยู่ระหว่างการสอบสวนอีก 10 เรื่องเท่านั้น รวมทั้งคดีบริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ฉ้อโกงธนาคารกรุงไทยปลอมใบขนส่งถ่านหิน ได้ส่งสำนวนให้ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไปแล้ว เนื่องจากเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจการสอบสวนของป.ป.ช