ตามคาด! 'พรเพชร' นั่งประธานวุฒิสภา

ตามคาด! 'พรเพชร' นั่งประธานวุฒิสภา

ตามคาด! การประชุม ส.ว. "พรเพชร" นั่งประธานวุฒิสภา "สิงห์ศึก" นั่งรองปธ.คนที่หนึ่ง - "ศุภชัย" นั่งรองปธ.คนที่สอง

เมื่อวันที่ 24 พ.ค.62 ที่อาคารหอประชุมใหญ่ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) สถานที่จัดประชุมวุฒิสภา ชั่วคราว มีการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง โดยมีวาระที่สำคัญ​คือ การเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง และเลือกรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง

โดยก่อนเข้าวาระประชุมนายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา แจ้งต่อที่ประชุมส.ว. ว่าจะใช้ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2551 ในการประชุม และได้เชิญร.อ.ทินพันธุ์​ นาคาตะ ส.ว.​ที่มีความอาวุโสสูงสุด ให้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมชั่วคราว เพื่อดำเนินการประชุมตามวาระ คือ รับทราบพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ.2562 , รับทราบพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ทั้ง 250 คน และให้สมาชิก กล่าวปฏิญาณตนในที่ประชุมก่อนเข้ารับและปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ ต่อด้วยการเลือกประธานวุฒิสภา

สำหรับการเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา นั้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และใช้เวลาที่รวดเร็ว โดยนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ส.ว. เป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งทั้ง 3 ตำแหน่ง โดยไม่มีผู้เสนอชื่อบุคคลใดแข่งขัน ได้แก่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ส.ว. ดำรงตำแหน่ง ประธานวุฒิสภา, พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ดำรงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และ นายศุภชัย สมเจริญ ดำรงตำแหน่ง รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ทั้งนี้ตามข้อบังคับการประชุม เมื่อผู้ที่เสนอชื่อได้รับการรับรองจากสมาชิก ผ่านการยกมือ เกิน 10 เสียง ให้ถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อและเมื่อไม่มีบุคคลใดถูกเสนอชื่อแข่งขันให้ถือว่าได้รับเลือก โดยไม่ต้องมีการลงคะแนน

20190524193434936

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนการเสนอชื่อตามวาระ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. อภิปรายต่อที่ประชุม ว่า ตำแหน่งประธานวุฒิสภา ฐานะรองประธานรัฐสภา ต้องได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และควบคุมการประชุมรัฐสภา รวมถึงได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการกลั่นกรองก่อนการเลือกประธานวุฒิสภา ไม่ใช่ให้กลุ่มบุคคลที่เคยปฏิบัติหน้าที่เกือบ 10 ปี ที่แสดงตนเป็นผู้นำทางความคิดเสนอตำแหน่งประธานและรองประธานวุฒิสภา โดยไม่ได้สอบถามสมาชิก ตนกังวลว่าจะเป็นจุดเสียต่อการปฏิบัติหน้าที่และเกิดความไม่ไว้วางใจ

อย่างไรก็ดีก่อนพล.อ.สมเจตน์จะอภิปรายแล้วเสร็จ ร.อ.ทินพันธ์ุ กล่าวตัดบทและงดการอภิปรายดังกล่าวพร้อมมั่นใจ ส.ว. มีวิจารณญาณในการเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาด้วยตนเอง และเชื่อมั่นในเสียงข้างมาก ทั้งนี้พล.อ.สมเจตน์ยังได้ขออภิปรายอีกครั้งต่อประเด็นที่ถูกตัดบทโดยยืนยันว่าประเด็นที่เสนอความเห็นเป็นข้อกังวล แต่เมื่อที่ประชุมไม่เปิดโอกาสและรับฟัง จะขอนำความเห็นไปเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป

20190524193429353

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับบุคคลที่ได้รับเลือก ได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม โดยนายพรเพชร กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมตอนหนึ่ง โดยย้ำถึงประสบการณ์การทำงานทั้งก่อนการรับเลือกให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2549 ต่อเนื่องถึงปี 2562 ว่า ได้เรียนรู้และเข้าใจถึงพฤติกรรมของสมาชิกแห่งสภาต่อการทำหน้าที่บัญญัติกฎหมาย สำหรับประสบการณ์การทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติที่ผ่านมาพบการออกกฎหมายที่สำคัญต่อประเทศ สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของส.ว. ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ตนได้ศึกษาและเตรียมพร้อมทำให้วัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในบทเฉพาะกาล ที่กำหนด 5 ปีแรก ทำงานด้านการปฏิรูป ซึ่งตนพร้อมทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ลุล่วง รวมถึงความคาดหวังของประชาชนต่อการปฏิรูปประเทศ

“หัวใจหลักของส.ว. คือ การทำงานร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร มีคนบอกว่า ต้องทันเกม แต่ผมเช่ือว่าความตั้งใจและจริงใจต่อการทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นไม่ต้องกังวล ผมต้องทำให้ได้ ผมไม่ขอพูดถึงการโหวตนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ผมขอบคุณสมาชิกและกราบขอกำลังใจ รวมถึงการสนับสนุนจากส.ว.ทุกคน” นายพรเพชร กล่าว

สำหรับนายพรเพชร วิชิตชลชัย เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2491 จบการศึกษา นิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบเนติบัณฑิตไทย และปริญญาโทด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา

ด้านประวัติการทำงาน
1 เมษายน 2532 ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลคดีเด็กและเยาวชน จังหวัดนครสวรรค์
1 เมษายน 2533 ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครสวรรค์
1 ตุลาคม 2535 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา
1 ตุลาคม 2538 ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 1
1 ธันวาคม 2540 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์
1 ตุลาคม 2546 ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ภาค 5
1 ตุลาคม 2547 ผู้พิพากษาศาลฎีกา
1 ตุลาคม 2549 ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4
1 ตุลาคม 2550 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ภาค 9 (ลาออก 21 พ.ย.2556)
11 ตุลาคม 2549 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สมัยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระ มหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข)
12 ธันวาคม 2549 กรรมาธิการการยุติธรรม การตำรวจและสิทธิมนุษยชน
8 ธันวาคม 2556 ผู้ตรวจการแผ่นดิน (แทนนายประวิช รัตนเพียร)
31 กรกฎาคม 2557 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

20190524191748788

ต่อมาเวลา 18:27 น.ที่ประชุม ส.ว.เสนอมีรองประธาน ส.ว. 2 คน นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ เสนอ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร เป็นรองประธานคนที่ 1 โดยเสนอเพียงคนเดียวไม่มีคู่แข่ง

ทางด้าน พล.อ.สิงห์ศึก แสดงวิสัยทัศน์ ตอนหนึ่ง ว่า ส.ว. ต้องร่วมมือสร้างสรรค์งาน ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งตนคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือ เป็นผู้ประสานงานที่ดี สำหรับกิจกรรมของสมาชิกที่จะทำประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ เพื่อให้สภาฯ ได้รับความเชื่อม้่นจากประชาชนว่าพึ่งพาได้ รวมถึงคำนึงถึงมิตรภาพอันดี

เวลา 18:40 น. นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ เสนอนายศุภชัย สมเจริญ เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2

นายศุภชัย แสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมตอนหนึ่ง ว่า  ตนจะจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และพิทักษ์สิทธิของสมาชิกวุฒิสภา พร้อมรับฟังความเห็นของสมาชิก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่ประชุมเลือกตำแหน่งทั้ง 3 แล้ว เลขาธิการวุฒิสภาจะนำรายชื่อทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งต่อไป.