แนะเทคนิค 4 ประการ พ่อแม่แก้ไขปัญหาลูกวัยรุ่น สลายพฤติกรรมรุนแรง
กรมสุขภาพจิต แนะเทคนิค 4 ประการ พ่อแม่แก้ไขปัญหาลูกวัยรุ่น สลายพฤติกรรมรุนแรง
วันนี้ (27 พฤษภาคม 2562) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์ในสังคมปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ปัญหาพฤติกรรมความรุนแรงของวัยรุ่นที่ปรากฎเป็นข่าวทางสื่อต่างๆ มีออกมาเรื่อยๆ และมีแนวโน้ม ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น การทะเลาะวิวาทกับผู้อื่นโดยใช้กำลัง การพกพาอาวุธ การทำลายทรัพย์สิน การรวมกลุ่ม ยกพวกตีกัน การทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนถึงแก่ชีวิต ฯลฯ นำมาซึ่งปัญหาและผลกระทบทั้งต่อตนเองและผู้อื่นตามมาอีกมากมาย ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดพฤติกรรมความรุนแรงและในเด็กและเยาวชนนั้น มักเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งด้านสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู ครอบครัว เพื่อน โรงเรียน เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งมีทั้งที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ปัจจัยด้านบวกหรือปัจจัยป้องกัน และผลกระทบของแต่ละปัจจัย ยังขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาที่เกิดขึ้น ระยะเวลา และความรุนแรงด้วย นอกจากนี้ หากเด็กและเยาวชนขาดการปลูกฝังความรู้คู่คุณธรรม ขาดการใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา และไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสมในช่วงต้นของชีวิตจะทำให้กลายเป็นปัญหาในอนาคตได้
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตขอแนะนำพ่อแม่ในการดูแลช่วยเหลือลูกวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมความรุนแรง 4 ประการ ดังนี้ 1. ฝึกจัดการกับความโกรธ ซึ่งสามารถฝึกทักษะต่างๆ ตามความถนัดหรือตามความสนใจของวัยรุ่น เช่น ฝึกการควบคุมความโกรธ การจัดการกับอารมณ์ ฝึกควบคุมความคิดของตนเอง การฝึกคลายเครียด เป็นต้น 2. การเสริมสร้างการตระหนักในคุณค่าของตนเอง เป็นการสนับสนุนให้วัยรุ่นเชื่อว่า ตนเองมีคุณค่ามีความสามารถ และเป็นที่ยอมรับ ซึ่งครอบครัวและคนใกล้ชิดมีส่วนสำคัญในการช่วยประคับประคอง และสนับสนุนให้วัยรุ่นพัฒนาความสามารถตามความถนัดและยอมรับในตัวตนของวัยรุ่น 3. พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดี ใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ใช้อารมณ์ ค่อยๆ คิดแก้ไขปัญหา ซึ่งความหนักแน่นมั่นคงของพ่อแม่ การอยู่ในศีลธรรมอันดี จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก และหากลูกวัยรุ่นมีปัญหาก็ให้คำแนะนำ ส่งเสริมให้ใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา รวมทั้งแก้ไขปัญหาเคียงข้างลูก และ 4. พ่อแม่ควรให้เวลากับการดูแลครอบครัวให้มากขึ้น มอบความรัก ความอบอุ่น ส่งเสริมให้มีการสื่อสารพูดคุยปรึกษาหารือร่วมกัน จะทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว ครอบครัวมีความเข้มแข็ง และจะช่วยให้เด็กวัยรุ่นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและ มีคุณภาพในอนาคต มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ และจิตใจที่ดี ไม่แสดงออกถึงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง
ทั้งนี้ หากพฤติกรรมเด็กวัยรุ่นยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือสามารถโทรศัพท์ขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง