ก.ล.ต.จับมือตลาดหลักทรัพย์ฯ บูรณาการขับเคลื่อนตลาดทุน
ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผย ผลการประชุมเพื่อหารือเชิงนโยบายและแนวทางการทำงานร่วมกัน ครั้งที่ 2/2562
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ในฐานะที่เข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จะทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ แบบบูรณาการ เพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของตลาดทุนไทย และจะสานต่อโครงการต่าง ๆ ที่เป็นข้อตกลงร่วมกันตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างรวดเร็ว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบริษัทจดทะเบียน ลดความซ้ำซ้อนและลดภาระในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จะส่งเสริมการทำธุรกิจตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี รับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนกลยุทธ์สำคัญ “Creating Partnership Platform to Drive Inclusive Growth” โดยมุ่งเป็นแพลตฟอร์มตลาดทุนครบวงจรของประเทศ พร้อมอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ภาคธุรกิจ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายโอกาสการเติบโตทุกภาคส่วน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทำงานร่วมกับผู้ร่วมตลาดอย่างใกล้ชิด การสนับสนุนจาก ก.ล.ต. และการบูรณาการการทำงานร่วมกันจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทั้งเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ รายละเอียดของโครงการที่ดำเนินการร่วมกัน มีดังนี้
1. One Stop Service : การจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการระดมทุนและการปฏิบัติตามเกณฑ์ภายหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แบบครบวงจร (end-to-end) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบริษัทที่สนใจระดมทุนและบริษัทจดทะเบียน จากปัจจุบันที่ต้องติดต่อสอบถามในเรื่องเดียวกันจากสองหน่วยงาน ทั้งนี้ คาดว่า จะเริ่มให้บริการในเดือนกันยายน 2562 นี้
2. One Report : เป็นการอำนวยความสะดวกแก่บริษัทจดทะเบียน โดยการลดความซ้ำซ้อนของแบบ 56-1 และแบบ 56-2 ที่มีสาระสำคัญใกล้เคียงกันให้เหลือเพียงแบบเดียว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ทั้งนี้ คาดว่าจะเปิดให้บริษัทจดทะเบียนที่มีความพร้อมนำแบบใหม่มาใช้โดยสมัครใจในการยื่นรายงานประจำปี 2562 ที่ครบกำหนดส่งในปี 2563 และเริ่มใช้บังคับกับทุกบริษัทสำหรับรายงานประจำปี 2563 ที่ครบกำหนดส่งในปี 2564 เป็นต้นไป
ส่วนแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ 69-1) ของบริษัทที่ยื่นคำขอไอพีโอนั้นจะใช้บังคับตั้งแต่การยื่นแบบในปี 2564 เป็นต้นไป นอกจากนี้ จะปรับปรุงแบบรายงานให้กระชับและมีการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) และสิทธิมนุษยชนให้มากยิ่งขึ้นเพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) อีกด้วย
3. One ESG : เป็นการผลักดันการขับเคลื่อน ESG (Environmental, Social and Governance) ของตลาดทุน โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน ESG เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาของภาคส่วนต่าง ๆ ให้เป็นแนวทางเดียวกัน และมีการบูรณาการร่วมกัน รวมทั้งมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน โดย ก.ล.ต. จะมีบทบาทในเรื่องการออกกฎเกณฑ์ กำกับดูแล และบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิของผู้ลงทุนรายย่อย และร่วมมือกับผู้ลงทุนสถาบันในการผลักดันให้เกิด ESG ในบริษัทจดทะเบียนมากขึ้น
ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะส่งเสริมกระบวนการและกลไกให้บริษัทจดทะเบียนนำหลักไปใช้จริงรวมทั้งการเปิดเผยข้อมูล ขณะที่สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) จะรับผิดชอบด้านการส่งเสริมบทบาทคณะกรรมการ บริษัทจดทะเบียน เพื่อทำให้เกิด ESG มากขึ้นและเป็นศูนย์คู่มือและแนวปฏิบัติด้าน ESG
นอกจากความคืบหน้าที่กล่าวข้างต้น ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ตกลงที่จะมีความร่วมมือด้านงานวิจัยและพัฒนาตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยจะเริ่มจากการศึกษาบทบาทของประชากรแบ่งตามรุ่น (generation) ต่าง ๆ ที่มีต่อการลงทุน และนำผลวิจัยไปใช้ในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการออมและการลงทุนระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ