แนะ 4 วิธีรับมือโรคมือ เท้า ปากในเด็ก
กรมควบคุมโรค แนะ 4 วิธีรับมือโรคมือ เท้า ปากในเด็ก เน้นให้สถานศึกษาคัดกรองเด็กทุกเช้าสอนให้ล้างมือเป็นประจำ
วันนี้ (10 มิถุนายน 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวพบเด็กนักเรียนของโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี ป่วยด้วยไข้ ออกผื่น หลายรายนั้น กรมควบคุมโรค โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 4 จังหวัดสระบุรี (สคร.4 สระบุรี) ซึ่งดูแลพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ได้ประสานข้อมูลไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ในเบื้องต้นพบว่า การเจ็บป่วยครั้งนี้เกิดขึ้นในระดับชั้น ม.1 เท่านั้น โดยมีอาการไข้ ออกผื่น ลักษณะผื่นที่พบเป็นผื่นแดงกระจาย ผู้ป่วยทุกรายได้เข้ารับการรักษาทั้งในโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน ซึ่งยังไม่พบอาการรุนแรง โดยอาการป่วยเบื้องต้นเกิดจากหลายสาเหตุซึ่งอาจเข้าได้กับหลายโรค ขณะนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี กำลังสอบสวนโรคและรอผลยืนยันการวินิจฉัยโรคอย่างชัดเจนอีกครั้ง
จากกรณีดังกล่าว ผู้บริหารโรงเรียน หน่วยงานสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือและพิจารณาปิดสถานศึกษาในวันนี้ (วันที่ 10 มิถุนายน 2562) เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อและทำความสะอาดตามสถานที่ อุปกรณ์ต่างๆ ในโรงเรียน ติดตามอาการป่วยของเด็กทั้งรายเก่าและค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ที่อาจมีอาการลักษณะเดียวกัน รวมถึงสื่อสารทำความเข้าใจและให้สุขศึกษากับผู้ปกครองและเด็กนักเรียน
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้สั่งการไปยังสำนักระบาดวิทยา สำนักโรคติดต่อทั่วไป สำนักงานป้องกันควบคุมโรค ทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เพื่อดำเนินการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปาก และโรคอื่นๆ ที่มักพบในช่วงฤดูฝน โดยเตรียมประสานข้อมูลและสนับสนุนทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) รวมถึงสื่อประชาสัมพันธ์ แก่หน่วยงานในพื้นที่อย่างเต็มที่
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับโรคมือ เท้า ปาก นั้น กรมควบคุมโรค ขอแนะนำ 4 วิธีในการป้องกัน ดังนี้ 1.การลดการสัมผัสเชื้อ โดยเชื้อโรคมือ เท้า ปากจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือเมื่อผู้ป่วยไปจับของเล่น ของใช้จะทำให้เชื้อกระจายสู่ผู้อื่นได้ หากลดการสัมผัส จะสามารถป้องกันการรับเชื้อได้ 2.หมั่นทำความสะอาดของใช้และของเล่นของเด็กเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม 3.หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลัง รับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือและลดการแพร่สู่ผู้อื่น และ 4.หากพบผู้ป่วย ควรให้หยุดเรียนและรักษาจนกว่าจะหาย ควรแยกของใช้ส่วนตัวเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆในครอบครัวหรือชุมชน เพื่อชะลอการแพร่กระจายเชื้อ
สำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน ควรมีการคัดกรองเด็กนักเรียนทุกเช้าก่อนเข้าห้องเรียน เพื่อตรวจดูนักเรียนที่มีอาการแสดงของโรค คือมีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น หากพบเด็กป่วยให้แยกออกมา แจ้งผู้ปกครองให้มารับกลับและพักรักษาจนกว่าจะหายเป็นปกติ จัดจุดล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ ส่วนผู้ปกครอง ควรหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลาน หากพบมีอาการข้างต้นควรให้หยุดเรียนและพักรักษาจนกว่าจะหาย ถ้าหากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422