สสจ.ประกาศคุมเข้ม 3 อำเภอ พบผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออก เตือนผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอายุระหว่าง 5-14 ปี และมีภาวะอ้วน กลุ่มเสี่ยงเป็นไข้เลือดออก พร้อมสังเกต 9 สัญญาณเตือน หากพบต้องสงสัยเป็นไข้หวัด ให้ปรึกษาแพทย์ทันที
นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ยุงลายสามารถแพร่พันธุ์ได้ทุกฤดูกาล และนำโรคระบาดสู่คนได้ 3 ชนิด คือ โรคไข้เลือดออก เชื้อไวรัสซิกา และไข้ปวดข้อยุงลาย โดยเฉพาะเด็กอายุระหว่าง 5-14 ปี และมีภาวะอ้วน ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากที่สุด หากไม่ระวังอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
สำหรับในปี 2562 พื้นที่ จ.ขอนแก่น มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 8 มิ.ย.จำนวน 665 รา พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออกแล้ว 3 ราย โดยในรายที่ 1 และ 2 แสดงอาการชัดเจนยืนยันว่าเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก ในขณะที่ผู้ป่วยรายที่ 3 นี้ มีอาการคล้ายว่าจะเป็นไข้เลือดออก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงต้องส่งเลือดไปตรวจสอบที่สถาบันบำราศนราดูร หลังจากที่พบว่ามีผู้เสียชีวิตจึงได้เปิดศูนย์ภาวะฉุกเฉินคุมเข้มป้องกันการระบาดไปแล้ว 3 อำเภอ ที่พบว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิต คือ อำเภออุบลรัตน์ อำเภอมัญจาคีรีและอำเภอเปือยน้อย
“สำหรับรายที่ 3 ที่เพิ่งเสียชีวิต อาศัยอยู่ที่ อ.เปือยน้อย เป็นเด็กอายุ 6 ปี ซึ่งเป็นเด็กเล็กกลุ่มเสี่ยง ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเสียชีวิตจากไข้เลือดออกหรือไม่ เนื่องจากมาถึงแพทย์ผู้ป่วยมีภาวะช็อคแล้ว จึงได้ส่งต่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชกรรม ที่โรงพยาบาลขอนแก่น พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้ทีมสอบสวนโรคหาสาเหตุของการเป็นโรคทันที ส่วนผู้เสียชีวิตรายที่ 1 และ 2 พบว่าป่วยเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกชนิดที่ 1 ซึ่งไม่พบชนิดที่ 1 นี้ มาประมาณ 2 ปีแล้ว อำเภอที่มีพบว่ามีผู้ป่วยสูง คือ อำเภอบ้านแฮด อัตราป่วยเท่ากับ 159.92 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ อำเภอแวงน้อย อำเภอเวียงเก่า อำเภอภูผาม่าน อำเภอหนองสองห้อง ตามลำดับ ในส่วนพื้นที่ที่ยังไม่พบผู้เสียชีวิตให้เพิ่มความเข้มข้นเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรค”นพ.สมชายโชติ กล่าว
ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ พบว่า มีการปรับตัวของยุง เนื่องมาจากสภาวะโลกร้อน แปรปรวน หรือเกิดภาวะเอลนีโญ ซึ่งสิ่งมีชีวิตก็จะมีการปรับตัว ยุงก็เช่นเดียวกัน พบว่ามีการปรับตัวเพื่อที่จะ ดำรงเผ่าพันธุ์ นอกจากนี้ในช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมา คณะทำงานลงพื้นที่สำรวจสาเหตุการระบาดของโรค พบว่านอกจากสภาพอากาศแล้ว การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้านก็มีส่วนทำให้เกิดโรคระบาดมากขึ้น โดยเฉพาะการมีร้านสะดวกซื้อ มีการขายอาการบรรจุกล่อง เมื่อรับประทานแล้วทิ้งภาชนะไม่เป็นที่ เมื่อมีน้ำขังก็จะเกิดลูกน้ำยุงลายได้ จากเดิมเฝ้าระวังน้ำขังในยางรถยนต์ กระถาง เท่านั้น นอกจากนี้จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกของจังหวัดขอนแก่นในปี 2562 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 จนถึง พฤษภาคม 2562 มีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าทุกปีถึง 2 เท่า แสดงให้เห็นว่า ยังมีพาหะนำโรคอยู่ในพื้นที่ยังไม่ถูกทำลาย สามารถแพร่กระจายเชื้อไข้เลือดออกได้อีก
“คุมเข้มมาตรการ "3 เก็บ-ป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่อยู่อาศัยของยุงลาย เก็บขยะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้งเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้วางไข่ หากทำได้ทั้ง 3 ข้อนี้ เชื่อว่า สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้ นอกจากนี้จากกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ ขอนแก่น อยู่ในกลุ่มเด็กเล็ก อายุระหว่าง 5-14 ปี ซึ่งผู้ปกครองต้องดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อยู่ในภาวะอ้วนด้วย เนื่องจากจะทำให้สังเกตอาการ แพทย์จะหาจุดเลือดไม่ชัดเจน”
นอกจากนี้ต้องหมั่นสังเกต 9 สัญญาณอาการเสี่ยงที่จะเป็นโรคไข้เลือดออก คือ 1.ไข้ลดลงแต่อาการเบื่ออาหาร ไม่เล่น และอ่อนเพลีย 2.คลื่นไส้ อาเจียน ตลอดเวลา 3.ปวดท้องมาก 4.มีเลือดออกมาก เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ 5.พฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไปจากปกติ 6.กระหายน้ำตลอด 7.ร้องกวนมากในเด็กเล็ก 8.ตัวเย็น สีผิวคล้ำลง หรือตัวลาย และ 9.ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะนานเกิน 4- 6 ชั่วโมง ถ้ามีอาการดังกล่าวแม้ว่าไข้เริ่มจะลดลงแล้วควรต้องไปพบแพทย์ทันที