ตัดสินประหารชีวิต 'อ้อแอ้' ขนยาอีลายปลาการ์ตูน ข้ามทวีปยุโรปมาขายไทย
เจ้าตัวรับสารภาพชั้นสอบสวน-ชั้นศาล หลังถูกจับคาสนามบินใส่กล่องข้าวปนอาหารแมว ศาลพิพากษารับสารภาพเหลือคุกตลอดชีวิต ส่วนเพื่อน 2 คนรอดยกฟ้อง ศาลยกประโยชน์ความสงสัยให้จำเลย
ที่ห้องพิจารณา 912 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 09.30 น. ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อย.1883/2561 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดียาเสพติด 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.อัมพิกา หรืออ้อแอ้ ปะติตัง อายุ 26 ปี ชาว จ.หนองคาย , น.ส.วรารัตน์ หรือแอ๋ม จันทมาส อายุ 26 ปี ชาว กทม.และ นายทรงพล ทมิยะ อายุ 34 ปี ชาว จ.นนทบุรี เป็นจำเลยที่ 1-3 ในฐานความผิดร่วมกันนำเข้ายาอี ( 3,4 เมทิลลีน ไดออกซิเมทแอมเฟตามีน) ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายฯ , ร่วมกันมียาอีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และสมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 ,7,8,15,65,66,100/1,102 พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3,5,7,8,14 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5,6,32,33,83
โดยอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.61 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 4-8 มี.ค.61 จำเลยทั้งสามได้สมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษประเภท 1 โดยจำเลยร่วมตกลงวางแผนแบ่งหน้าที่กันทำ ร่วมกันออกเงินซื้อยาอีจากประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อมาจำหน่ายให้กับลูกค้าในประเทศไทย โดยจำเลยที่ 1-2 ทำหน้าที่เก็บรักษา ครอบครองและขนลำเลียงยาอีเข้ามา โดยเมื่อวันที่ 8 มี.ค.61 จำเลยที่ 1-2 ได้เดินทางผ่านมาทางสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งนำเอายาอี จำนวน 5,731 เม็ด น้ำหนัก 2.658 กิโลกรัม ที่บรรจุในกล่องอาหารสัตว์ซุกซ่อนในกระเป๋าเป้สะพายหลังที่ใส่ไว้ในกระเป๋าเดินทาง เอาเข้ามาในประเทศเพื่อจำหน่ายให้ลูกค้า โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมจำเลยที่ 1-2 ขณะนำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร ส่วนจำเลยที่ 3 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมได้ตามหมายจับ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.61
ชั้นพิจารณา น.ส.อัมพิกา หรืออ้อแอ้ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วน น.ส.วรารัตน์ และ นายทรงพล จำเลยที่ 2-3 ให้การปฏิเสธ โดยระหว่างพิจารณาคดีในชั้นศาล จำเลยทั้งสามไม่ได้รับการประกันตัวซึ่งตัวถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง และทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง
โดยวันนี้ศาลได้เบิกตัว จำเลยทั้งสาม มาจากเรือนจำเพื่อฟังคำพิพากษา ขณะที่มีเพื่อนและญาติกว่า 10 คน เดินทางมาร่วมฟังคำตัดสินและให้กำลังใจพวกจำเลยด้วย
ขณะที่ ศาล พิเคราะห์พยานหลักฐานที่นำสืบในคดีแล้ว โจทก์มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย ซึ่งเป็นชุดจับกุมมาเบิกความถึงรายละเอียดการจับกุมสอดคล้องต้องกันว่า ก่อนจะจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมหญิงคนหนึ่งชื่อลูกเกด ซึ่งมียาเสพติดไว้ในครอบครองในจำนวนนั้นมียาอีส่วนหนึ่ง เมื่อสอบสวนขยายผลทราบว่าได้ติดต่อซื้อยาอีจาก น.ส.อัมพิกา จำเลยที่ 1 ผ่านโปรแกรมแชท LINE เมื่อตรวจสอบการสนทนาจำเลยที่ 1 แจ้งว่าจะนำยาอีจากประเทศเนเธอร์แลนด์มาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายให้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงได้ติดตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 โดยตรวจสอบกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)ในการเดินทางเข้า-ออกประเทศ จนทราบข้อมูลว่าจำเลยที่ 1 กำลังจะกลับเข้ามาในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ไปที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อติดตามดูพฤติการณ์ พบจำเลยที่ 1 เดินทางมาพร้อมกับจำเลยที่ 2 โดยช่วงที่ไปรับกระเป๋าเดินทางก็มีท่าทางระแวดระวัง ระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ได้นำกระเป๋าเป้สะพายลายทหารออกจากกระเป๋าเดินทางมาสะพายหลังแล้วเดินออกมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้สะกดรอยตามพร้อมแสดงตัวเพื่อตรวจค้นและจับกุม โดยการตรวจค้นกระเป๋าพบซุกซ่อนยาอีปะปนอยู่ในอาหารแมวที่ใส่ไว้ในกล่องอาหาร ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 รับว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 2-3 นำเงินมาซื้อยาอี จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งจำเลยที่ 1-2 ลงทุนคนละ 100,000 บาท จำเลยที่ 3 จำนวน 80,000 บาท ขณะที่การเดินทางก็จะแวะเปลี่ยนเครื่องที่ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอหมายจับจำเลยที่ 3 และจับกุมตัวได้เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2561
เมื่อพิจารณาคำเบิกความพยานโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ขณะจับกุมแล้วเชื่อว่า เบิกความตามข้อเท็จจริงที่ได้รู้เห็นซึ่งเบิกความสอดคล้องกันเป็นขั้นเป็นตอน เมื่อนำมารับฟังประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 แล้ว ฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัย น.ส.อัมพิกาหรืออ้อแอ้ จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้อง
ส่วน น.ส.วรารัตน์ จำเลยที่ 2 แม้ในชั้นสอบสวน น.ส.อัมพิกา จำเลยที่ 1 จะให้ว่าร่วมลงทุนด้วยกันแต่คำเบิกความนั้นก็เป็นลักษณะพยานบอกเล่าที่จะต้องนำสืบและรับฟังร่วมกันพยานอื่น ซึ่งโจทก์ไม่มีพยานอื่นคงมีเพียงข้อมูลที่พบว่าจำเลยที่ 2 เดินทางร่วมมากับจำเลยที่ 1 โดยชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธระบุว่า ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การเกี่ยวกับข้อมูลตนเองเท่านั้นไม่ได้มีข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งชั้นนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้อ่านบันทึกคำให้การให้จำเลยที่ 2 ฟัง พยานหลักฐานโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 นี้จึงยังมีเหตุสงสัยตามสมควรจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง เช่นเดียวกับ นายทรงพล จำเลยที่ 3 ที่คงได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 3 เคยร่วมเดินทางกับจำเลยที่ 1 ช่วงเดือน ก.ค.60 เท่านั้น แต่ก็ไม่มีการดำเนินการจับกุมในขณะนั้น
ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา จึงรับฟังได้เฉพาะ น.ส.อัมพิกาหรืออ้อแอ้ จำเลยที่ 1 ว่า นำเข้ายาอี ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายฯ และมียาอีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และพ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ให้ลงโทษบทหนักสุดฐานนำเข้ายาอี เข้ามาจำหน่ายให้ประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกไว้ตลอดชีวิตและให้ริบของกลางไว้ทั้งหมด
ส่วน น.ส.วรารัตน์ และ นายทรงพล จำเลยที่ 2-3 พิพากษาให้ยกฟ้อง โดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสอง ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
ทั้งนี้ภายหลังศาลพิพากษายกฟ้อง เพื่อนและญาติของจำเลยที่ 2 -3 ต่างส่งเสียงร้องด้วยความดีใจ ส่วน น.ส.อัมพิกาหรืออ้อแอ้ ซึ่งสวมชุดนักโทษสีน้ำตาลและแมสปิดใบหน้า ก็มีท่าทางซึมเศร้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 มี.ค.61 ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ผบช.ปส.)ได้แถลงข่าวจับกุม น.ส.อัมพิกาหรืออ้อแอ้ , น.ส.วรารัตน์หรือแอ๋ม และ นายทรงพล ในข้อหาลักลอบจำหน่ายยาอีชนิดใหม่รูปตัวการ์ตูนดังกล่าว ซึ่งนำมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเป็นที่นิยมในหมู่นักเรียน นักศึกษา เมื่อเสพเข้าไปจะออกฤทธิ์ให้มีความรู้สึกเพลิดเพลินและกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง และถือเป็นเรื่องภัยคุกคามทางเพศ กำลังแพร่ระบาดอยู่ในเมืองไทย