‘Local Tourism’ เปิดทางนวัตกรรมเพื่อสังคม

 ‘Local Tourism’ เปิดทางนวัตกรรมเพื่อสังคม

ทราเวล พาส แพลตฟอร์มนำเที่ยววิถีชุมชน ตัวช่วยนักท่องเที่ยว กับ MuV ตุ๊กตุ๊กคนเมืองพลังงานไฟฟ้า ยานพาหนะที่จะช่วยเปลี่ยนเมืองกรุงให้เป็นเมืองกรีน เป็น 2 โครงการที่ ‘เอ็นไอเอ’ หนุนธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม นำร่องย่านรัตนโกสินทร์

ทราเวล พาส แพลตฟอร์มนำเที่ยววิถีชุมชน ตัวช่วยนักท่องเที่ยว กับ MuV ตุ๊กตุ๊กคนเมืองพลังงานไฟฟ้า ยานพาหนะที่จะช่วยเปลี่ยนเมืองกรุงให้เป็นเมืองกรีน เป็น 2 โครงการที่ ‘เอ็นไอเอ’ หนุนธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม นำร่องย่านรัตนโกสินทร์ หวัง 3 ปียกระดับเป็น Authentic Tourism กว่า 70% ของมูลค่าธุรกิจท่องเที่ยวไทยจะอยู่ที่ค่าเดินทาง ค่าตั๋ว และสถานที่พักแรม ในขณะที่อีกกว่า 10% เป็นเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเพื่อกิน เม็ดเงินจากสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวอย่างของที่ระลึกนั้น มีไม่เกิน 3% ซึ่ง “พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ ชี้ว่า เป็นเม็ดเงินที่น้อยมาก 


สำหรับ “ย่านรัตนโกสินทร์” ถือเป็นย่านที่เต็มไปด้วยแหล่งงานสร้างสรรค์ (Creativity) ศิลปะ (Art) วัฒนธรรม (Culture) ตลอดจนประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่สำคัญและโดดเด่นอย่างมีอัตลักษณ์ กลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมภายในย่าน คือ กลุ่มธุรกิจทางด้านศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โดยในแต่ละชุมชนมีอัตลักษณ์ความโดดเด่นแตกต่างกันออกไป เช่น พื้นที่ท่าเตียน - ย่านศูนย์กลางการค้าขายนับแต่อดีต พื้นที่ปากคลอง - บทบาทของปากคลองซึ่งเป็นแหล่งค้าส่งผักและผลไม้ ตลาดค้าปลีกที่ได้เชื่อมโยงสินค้าไปสู่ตลาดเล็กๆ ในพื้นที่ชั้นในของ กทม. จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กลายเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวทั่วโลก เป็นต้น

“เมื่อพื้นที่ท่องเที่ยวถูกพัฒนา เกิดสิ่งปลูกสร้างใหม่ ใส่เทคโนโลยี ฯลฯ แต่บ่อยครั้งที่เจ้าของพื้นที่ถูกลืม สิ่งของ กิจกรรม หรืออาหารที่เป็นรากวัฒนธรรมของพื้นที่นั้นๆ ถูกทิ้งไว้ข้างหลังและถูกลืม” พันธุ์อาจกล่าว พร้อมชี้ว่า เอ็นไอเอจึงมีโปรแกรมการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม 2 กลุ่ม ได้แก่ โครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ที่มีผลกระทบสูง มุ่งให้เกิดการขับเคลื่อนโครงการที่มีผลกระทบเชิงสังคมสูง และโครงการนวัตกรรมแบบเปิด จะให้ความสำคัญต่อประเด็นการพัฒนาสาขาธุรกิจเพื่อสังคม ที่สร้างความสามารถทางนวัตกรรมของสังคม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ศานนท์ หวังสร้างบุญ กรรมการ บริษัท มหาชุมชน จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์มนำเที่ยววิถีชุมชน ทราเวล พาส (Trawell PASS)ที่ได้รับการสนับสนุน ภายใต้โครงการ city & community innovation challenge 2018 ด้านเมืองแห่งความเท่าเทียม กล่าวว่า เมืองที่โตขึ้น คนเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนแออัด และเกิดความเหลื่อมล้ำ เห็นได้จากปริมาณคนที่กระจุกตัวในแหล่งท่องเที่ยวอย่างพระบรมมหารวัง ในขณะที่เดินมาอีกไม่ไกล ร้านอาหารในแพร่งนรากลับเงียบเหงา เป็น Unbalanced Demand ที่ทำให้เกิดทราเวล พาสขึ้น 

ทราเวล พาสเป็นแชตบอทที่เชื่อมกับเฟซบุ๊ค แมสเซนเจอร์ที่นักท่องเที่ยวใช้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องพัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ที่นักท่องเที่ยวมักมองว่า ไม่คุ้มค่าที่จะโหลดเพื่อทริปที่มาเพียงครั้งเดียว โดยพัฒนาแพลตฟอร์มร่วมกับคนท้องถิ่นเพื่อใช้นำเสนอและบริหารจัดการการท่องเที่ยววันเดียว กิจกรรม สินค้า และการเดินทาง รวมถึงช่วยยกระดับคุณภาพของสินค้าและบริการของคนท้องถิ่นให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวท้องถิ่น (hidden gems) ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นได้สะดวกมากขึ้น


ในขณะที่  รถตุ๊กตุ๊กคนเมืองพลังงานไฟฟ้า (MuV) เป็นนวัตกรรรมรถตุ๊กตุ๊กระบบไฟฟ้า ที่ “กฤษดา กฤตยากีรณ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค จำกัด ชี้ว่า เป็นการลดการใช้พลังงานน้ำมัน ใช้งานง่าย ปลอดภัย และสะดวกต่อการเดินทาง ซึ่งเป็นธุรกิจการเดินทางตอบโจทย์กับเศรษฐกิจสีเขียว และยังนำเอกลักษณ์ของรัตนโกสินทร์มาพัฒนาเป็นธุรกิจได้อย่างตอบโจทย์ 

“เราตั้งใจพัฒนานวัตกรรมที่แก้โจทย์การท่องเที่ยวแบบต้นทาง/ปลายทาง (first/last mile) ในชุมชน ที่จุดท่องเที่ยวแต่ละที่ห่างกัน และไม่มีบริการขนส่งสาธารณะรองรับ จึงเริ่มพัฒนารถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติเด่นคือ โครงสร้างเป็นสเปซเฟรมและมีระบบควบคุมแบบฟีดแบค คอนโทรลในการควบคุมความเร็วและความสมดุลของรถ ส่งผลให้มีความปลอดภัยสูงกว่ารถตุ๊กตุ๊กที่ขับขี่อยู่บนท้องถนนในปัจจุบัน และมีระบบบริหารจัดการพลังงานให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด” 

รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าถูกนำไปนำร่องใช้บริการ “ตุ๊กตุ๊ก ฮอป” ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวในจุดท่องเที่ยวสำคัญของกทม. 60 จุด โดยกลุ่มลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ใช้งานผ่านการดาวโหลดในแอพพลิเคชั่น Tuk Tuk Hop ซึ่งกฤษดาแย้มว่า ปี 2562 มีรายได้จากบริการนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า และปีนี้ ตั้งเป้าจะโตเพิ่มเป็นเท่าตัว จากบริการที่เริ่มเป็นที่รู้จัก และการขายรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่คาดว่าจะได้ออเดอร์จากลูกค้ายุโรปอีกด้วย ทั้ง 2 ธุรกิจ เป็นผลงานจากโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน (City & Community Innovation Challenge) ที่สามารถผลักดันไปสู่การใช้งานจริง เพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้นในสังคมเมืองและชุมชน ภายใต้ในวงเงินไม่เกินโครงการละ 1.5 ล้านบาท 

“การสนับสนุนของเราไม่ได้มองแค่ตัวเงิน แต่สิ่งที่สำคัญคือ การมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการและเจ้าของพื้นที่ ที่จะทำให้สิ่งที่เริ่มทำ กลายเป็นกิจกรรมประจำวัน ที่ทำให้ชุมชนสามารถอยู่ได้ เกิดรายได้แบบยั่งยืน และหวังว่า ภายใน 3 ปี การท่องเที่ยววิถีชุมชนในย่านรัตนโกสินทร์นี้ จะสามารถยกระดับเป็น Authentic Tourism ที่มาจากเจ้าของพื้นที่จริงๆ มีพัฒนาการ และยั่งยืนทางเศรษฐกิจ จากความเข้มแข็งของเจ้าของพื้นที่” ผู้อำนวยการเอ็นไอเอ ย้ำ