ลงทุนเด็กทุนนวัตกรรมฯ สร้างมูลค่าถึง 1 หมื่นล้านบาท
วอนนายกฯ อย่าทิ้งเด็กทุนนวัตกรรมสายอาชีพ เด็กยากจน ได้มีโอกาสเรียนต่อ มีงานทำ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กสศ.เผยนักเรียนที่ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูงจำนวน 2,053 ทุน ออกสู่ตลาดแรงงาน สร้างมูลค่าในรูปตัวเงินถึงประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.62 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) จัดเวที "ปลุกพลัง สร้างโอกาสแห่งอนาคต กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง" โดยมีผู้นำนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงรุ่นที่1 และผู้บริหาร ครู อาจารย์ จากสถานศึกษาสายอาชีพ จำนวน 36 แห่ง จากเข้าร่วม กว่า300 คน พร้อมจัดกิจกรรม Youth Talk ตัวตน ความฝัน ความหวังและอนาคตโดยตัวแทนทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่1
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง: สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน” ว่า การเรียนสายอาชีพนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้จริง และประเทศชั้นนำของโลก เช่น เยอรมนี ไต้หวัน สิงคโปร์ ล้วนให้ความสำคัญกับคุณภาพแรงงานในระดับสายอาชีพชั้นสูง โดยถือเป็นกำลังแรงงานกลุ่มสำคัญที่ทำให้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากกว่าแรงงานในระดับการศึกษาอื่นๆ โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของกสศ.มีการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่สร้างกำลังคนสายอาชีพ ให้มีสมรรถนะและทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่ให้ความสำคัญกับสาขา STEM (วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี) รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะอาชีพการทำงานตาม 10 อุตสาหกรรม S Curve และNew S Curve เป้าหมายตามนโยบายรัฐบาลและความต้องการตลาดแรงงานในท้องถิ่น
"คาดว่าโครงการนี้จะมีความคุ้มทุนอย่างมาก เพราะเป็นการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีศักยภาพสูงขึ้น สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างทั่วถึง ช่วยแก้ปัญหาแรงงานได้ตรงจุด รวมถึงทำให้สถาบันการศึกษาสายอาชีพได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน โดยหากนักเรียนที่ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูงจำนวน 2,053 ทุน ในปีแรก ออกไปสู่ตลาดแรงงาน ข้อสมมติฐานที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ก็คือ เมื่อพวกเขาเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทำงานหลังจบการศึกษาจนถึงเกษียณอายุ 60 ปี พวกเขาจะสามารถสร้างมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV ) ในรูปตัวเงินถึงประมาณ 1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR หรือ Internal Rate of Return) อยู่ที่ 10 % ขณะที่แง่เศรษฐกิจภาพรวม จะช่วยให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมของรัฐ การเพิ่มรายได้ภาษี และลดปัญหาความยากจน"นายประสาร กล่าว
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ.กล่าวว่า ตามสถิติพบว่าแต่ละปีเด็กประมาณ 7 แสนคน ในจำนวนนี้ 1 แสนคนมีฐานะยากลำบากและมีเพียง 5,000 คนมีโอกาสศึกษาต่อในระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 6 เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กสศ.ต้องการเข้ามาลดช่องว่างจุดนี้เกิดเป็นโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สนับสนุนให้เรียนต่อในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ ซึ่งปีการศึกษา 2562 เป็นปีแรกและได้คัดเลือกผู้รับทุนรุ่น 1 เรียบร้อยแล้ว โดยมีสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สถาบันอุดมศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาลัยชุมชน เข้าร่วมโครงการ 36 สถาบัน 26 จังหวัด ครอบคลุมทั้ง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ มีผู้รับทุน 2,053 คน แบ่งเป็น ผู้รับทุนในประเภทประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ต่อเนื่อง ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)/อนุปริญญา (ทุน 5 ปี) จำนวน 922 ทุน และประเภท ปวส./อนุปริญญา (ทุน 2 ปี) จำนวน 1,131 ทุน เข้าศึกษาต่อใน 30 สาขาวิชาขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของประเทศ โดยสาขาวิชาวิชาที่มีจำนวนผู้รับทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สาขาเครื่องกล จำนวน 286 ทุน สาขาเกษตรศาสตร์ จำนวน 220 ทุน สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม จำนวน 200ทุน สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จำนวน 163 ทุน และสาขาไฟฟ้า จำนวน 161 ทุน
"นักศึกษาผู้รับทุนทุกคนมาจากครอบครัวยากลำบาก ซึ่งเราก็พบว่านอกจากปัญหาทางเศรษฐกิจก็ยังมีปัญหาอื่นๆแฝงมาด้วย จุดนี้ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการเรียน ซึ่ง กสศ.มีเป้าหมายให้ทุกคนจบการศึกษาและทำงานเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ดังนั้น การดูแลเมื่อเข้ามาในสถาบันจะต้องมีอาจารย์ช่วยดูแลแทนพ่อแม่ด้วย ซึ่ง กสศ.ก็จะมีทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ทำหน้าที่ในการติดตามดูแลนักศึกษาทุนจนจบการศึกษาด้วย ส่วนการเตรียมความพร้อมคัดเลือกนักศึกษาทุน รุ่นที่ 2 นั้น ก็อยู่ระหว่างการเริ่มเตรียมการ แต่ กสศ.ยังมีความห่วงใยในเรื่องของงบประมาณ เพราะร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ยังไม่ผ่านความเห็นชอบ ซึ่งอาจจะทำให้การอนุมัติงบประมาณล่าช้า จึงกังวลว่าอาจจะกระทบต่อการเชิญชวนเด็กมาร่วมโครงการ" นพ.สุภกร กล่าว