EXIM BANK ขยายระยะเวลาอนุมัติสินเชื่อเอ็กซิมเพื่อโซนพิเศษ
EXIM BANK ขยายระยะเวลาอนุมัติสินเชื่อเอ็กซิมเพื่อโซนพิเศษ
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า EXIM BANK มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นเครื่องมือให้กับผู้ประกอบการสามารถเพิ่มโอกาสการค้าขาย ขยายการลงทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยล่าสุดได้ปรับปรุงสินเชื่อเอ็กซิมเพื่อโซนพิเศษ (EXIM Special Zone Credit) ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้ประกอบการยื่นขอรับบริการสินเชื่อเอ็กซิมเพื่อโซนพิเศษ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 เป็นจำนวนรวม 1,500 ล้านบาท EXIM BANK จึงขยายระยะเวลาอนุมัติบริการสินเชื่อดังกล่าวจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อเอ็กซิมเพื่อโซนพิเศษสามารถสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีความประสงค์ใช้วงเงินสินเชื่อได้หลากหลายขึ้น ช่วยส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC)
ผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนเพื่อเริ่มต้น ขยาย หรือปรับปรุงกิจการด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาคาร โรงงาน การขยายกำลังการผลิต และปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร ในพื้นที่โซนพิเศษ ซึ่งประกอบด้วยเขตอุตสาหกรรม จังหวัดในเขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม จังหวัดชายแดน รวมถึงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ครอบคลุมจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง สามารถขอรับบริการสินเชื่อเอ็กซิมเพื่อโซนพิเศษ (EXIM Special Zone Credit) ได้ทั้งในรูปแบบเงินกู้ระยะยาว ผ่อนชำระนาน 15 ปี อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 3 ปีแรก Prime Rate -1.75% ต่อปีหรือเท่ากับ 4.5% ต่อปี และเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ วงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของวงเงินกู้ระยะยาวที่ได้รับอนุมัติ อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรกสูงสุดไม่เกิน 4.75% ต่อปี และรับส่วนลดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นอีก 0.25% ต่อปีสำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC ทั้งนี้ ลูกค้าปัจจุบันของ EXIM BANK สามารถขออนุมัติวงเงินหมุนเวียนได้ โดยไม่ต้องขอวงเงินกู้ระยะยาว
“EXIM BANK พัฒนาบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการไทย และนโยบายของรัฐบาล โดยเชื่อมั่นว่าจะช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงของผู้ประกอบการไทยหรือการร่วมลงทุนกับนักลงทุนต่างชาติในพื้นที่ที่รัฐบาลส่งเสริม รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง ส่งผลดีต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตใหม่ ฝีมือแรงงาน และการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยโดยรวม” นายพิศิษฐ์กล่าว