'ธนาธร' ถก 'แอนิมอล ฟาร์ม' ชี้ 'มายาคติ' คือเครื่องมือผู้ปกครองใช้ควบคุมผู้อื่น
“ธนาธร - กุลธิดา” ร่วมถก “แอนิมอล ฟาร์ม” ชี้ “มายาคติ” คือเครื่องมือผู้ปกครองใช้ควบคุมผู้อื่น - หวั่น การชุมนุมโดยสงบซึ่งเป็นสิทธิ ถูกบิดเบือนเป็นการสร้างความวุ่นวาย!
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ร้านหนังสือบุ๊คโคล่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วย น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองกิจ รองหัวหน้าพรรค ร่วมกิจกรรมเสวนาหนังสือหัวข้อ “แอนิมอลฟาร์ม และดิสโทเปียอื่นๆ” โดยตอนหนึ่ง นายธนาธร ระบุว่า หนังสือเรื่องแอนิมอล ฟาร์ม ตนอ่านนานมากแล้ว เป็นหนึ่งในรายชื่อหนังสือที่นักกิจกรรม คนทำกิจกรรมการเมืองต้องอ่าน รวมถึงหนังสืออย่าง 1984, บันทึกของ แอนน์ แฟรงก์ เป็นต้น สิ่งที่น่าคิดอย่างหนึ่งในนิยายเล่มนี้ คือ เรื่องมายาคติ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ผู้ปกครองใช้กดทับผู้อื่น นโปเลียนหรือหมูผู้ปกครองในเรื่องสร้างเรื่องราวหลอกลวง เพื่อควบคุม ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงควบคุมด้วยกองกำลังหรือกองทัพอย่างเดียว แต่ต้องสร้างมายาคติด้วย ไม่ว่าจะเป็นบัญญัติสัตว์ 7 ประการที่มีการแก้ไขอยู่เรื่อยๆ ซึ่งมายาคติเหล่านี้เอง ทำให้คนไม่กล้าจะท้าทาย ตนอยากยกตัวอย่างชุดความคิดที่ล้าหลังมากกับโลกสมัยใหม่ แต่กำลังเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจทำได้สำเร็จในสังคมไทย นั่นคือ เขาพยายามบอกว่าการชุมนุมคือความวุ่นวาย นี่เป็นสิ่งที่สังคมไทยรู้สึก ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว การชุมนุมนั้นเป็นสิทธิเสรีภาพตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
“ทางหนึ่งการชุมนุมอย่างสงบก็เป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจด้วย เพราะอำนาจนั้นเป็นสิ่งที่ทำลายคุณ สิ่งที่ประชาชนต้องทำ เพื่อไม่ให้ผู้มีอำนาจ หรือไม่ให้หมูนโปเลียนกลายพันธุ์ นั่นคือ ทำให้อำนาจตรวจสอบได้ ประชาชนต้องสามารถที่จะลุกขึ้นยืนแล้วชี้หน้าถามว่า ทำไมต้องทำเรื่องนั้น ทำไมต้องตัดสินใจเรื่องนี้ เพราะถ้ากลไกตรวจสอบไม่มีเมื่อไหร่อำนาจของคุณจะพัง คือต่อให้บอกว่ามีจิตใจใสสะอาดแค่ไหนก็ตาม อย่างไรก็จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ แน่นอน เราไม่รู้หรอกว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดในกฎเกณฑ์การอยู่ด้วยกัน ทุกอย่างมีมีความเปลี่ยนแปลง ระบอบประชาชาธิปไตยเองก็มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นกัน”
นายธนาธร กล่าวอีกว่า อีกสิ่งหนึ่งที่นโปเลียนใช้ในการสร้างความชอบธรรมในการดำรงอำนาจของตัวเอง ทำให้ระบอบของตัวเองอยู่ได้ นั่นก็คือการสร้าง ‘ปีศาจ’ ขึ้นมา ซึ่งในเรื่องแอนิมอล ฟาร์ม นั้นก็คือ สโนบอล ที่สุดท้ายก็ถูกขับไล่ออกไปจากฟาร์ม สโนบอลถูกกล่าวหา ถูกใส่ร้าย ว่าเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังที่ทำให้กังหันลมที่ใช้ปั่นไฟในฟาร์มพัง การสร้างปีศาจหรือสร้างตัวร้ายขึ้นมาเกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ทุกยุคทุกสมัย ต้องจัดการ และพวกนี้จัดการไม่ได้ด้วยระบอบประชาธิปไตย ต้องใช้เครื่องมืออื่นๆ อย่างสารพัด
ด้าน น.ส.กุลธิดา กล่าวว่า ตนเองมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนี้ตอนสอนหนังสือนักเรียน เป็นหนังสือที่ใหเลือกอ่าน และสนุกมากกับการแกะเนื้อหาในบริบทของสังคมช่วงนั้น วิธีการเขียนก็น่าทึ่งเพราะเป็นการสร้างโลกใบใหม่ขึ้นมาเพื่อตีแผ่โดยใช้สัตว์เป็นตัวละคร ที่เด่นๆ ก็เช่น ‘บ็อกเซอร์’ ม้าหนุ่มที่เป็นแรงงาน ทำงานหนัก ถ้าเปรียบเทียบกับแง่มุมการศึกษา ม้าตัวนี้ไม่เคยอ่านหนังสือได้เกิน 4 ตัว เป็นตัวละครที่เศร้าที่สุด ถูกกดทับด้วยความคิดว่าตนเองทำได้แค่นี้ สิ่งที่มีดีที่สุดคือแรงงาน ต้องทำงานหนักเพื่อให้ได้รับการยอมรับ เหมือนบริบทของชนชั้นล่างที่ในหัวตัวเองถูกกดทับจนทำให้คิดว่าได้แค่นี้ก็ดีแล้ว จึงไม่เกิดการตั้งคำถามต่อระบบ อย่างตนเคยไปเจอเด็กในชุมชนแออัดแห่งหนึ่ง เรียนติดศูนย์มากมายจะไม่จบ เขาก็ไม่อยากไปแก้ศูนย์ ไม่อยากไปสอบให้ผ่าน บอกว่าตัวเองไม่มีมีความสามารถ พอแล้วจะออกไปช่วยแม่ทำร้านอาหารตามสั่ง เรียนแค่นี้พอแล้ว กรอบความคิดม้าอย่างบ็อกเซอร์โลกเขามีแค่นั้น ระบอบนี้ทำให้เขาบอกตัวเองว่าทำได้แค่นั้น ทำให้เราพอใจกับการแค่ท่องบัญญัติสัตว์ 7 ประการเหมือนในนิยายได้ ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก
“อีกตัวละครหนึ่งที่น่าสนใจคือ สเคลเลอร์ ที่เปรียบไปก็เหมือนเจ้ากรมโฆษณาชวนเชื่อ ทำทุกอย่างเพื่อบิดเบือนความจริงเพื่อผู้ปกครอง การปกครองของผู้มีอำนาจในเรื่องนี้ใช้ความกลัวกับซอร์ฟ พาวเวอร์ ผสมกัน สเคลเลอร์นี่เองที่ทำหน้าที่นี้ มีทั้งเรื่องเล่าบิดเบือน สร้างเรื่องเล่าใหม่ให้สัตว์อื่นเชื่อ ยกตัวอย่าง กรณีม้าอย่างบ็อกเซอร์ที่ถูกส่งไปยังโรงฆ่าสัตว์เพราะผู้ปกครอง คือหมูนโปเลยต้องการได้เงินมาซื้อเหล้าดื่ม กรณีนี้ก็ถูกเล่าใหม่ว่าถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล และที่ผ่านมานโปเลียนดูแลบ็อกเซอร์อย่างดี ให้ยาที่ดีที่สุดกิน เป็นต้น กรณีนี้ถ้าเปรียบกับเกาหลีเหนือจะเห็นชัด ว่ายังมีการสร้างโลกสวยงาม ทหารเป็นผู้ดูแลความสงบ เด็ก ทหารและขีปนาวุธ อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ใครถืออำนาจเล่าเรื่อง คนนั้นมีอำนาจในสังคม” น.ส.กุลธิดา กล่าว