สิทธิประโยชน์ใหม่ 'บัตรทอง' ปี 63
บอร์ดสปสช.เห็นชอบเกณฑ์จัดสรรงบ “บัตรทอง” ขาลงปี 63 หมวดงบฯนอกรายหัว ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังรับมากสุดกว่า 9 พันล้านบาท ผู้ป่วยเอดส์กว่า 3,500 ล้านบาท
ขณะที่หมวดงบฯรายหัว เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ใหม่ 6 เรื่องเด่น บริการตรวจคัดกรองยีนส์แพ้ยา - ยาสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์รุนแรงน้อยถึงปานกลาง – ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตกรณีธาลัสซีเมีย-เพิ่มวัคซีนโรต้าในเด็ก- เพิ่มยายุติการตั้งครรภ์-เพิ่มคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเจาะลึกระดับดีเอ็นเอ
วันนี้(1 ก.ค.) ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า บอร์ดสปสช.เห็นชอบข้อเสนอหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กองทุนบัตรทอง) ปีงบประมาณ 2563 ตามที่คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนนำเสนอ เพื่อดูแลผู้มีสิทธิในระบบบัตรทองอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 12 ก.พ.2562 คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้อนุมัติงบประมาณกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2563 ซึ่งประมาณการงบประมาณที่คาดว่าจะได้รับจำนวน 190,601.71 ล้านบาท โดยแยกเป็น 3 หมวดสำคัญ ได้แก่
1.หมวดงบเหมาจ่ายรายหัว จำนวน 173,750.40 ล้าน สำหรับประชากร 48.264 ล้านคน บาท เฉลี่ยคนละ 3,600 บาทต่อคนต่อปี แยกเป็น 9 ประเภทบริการ คือ ผู้ป่วยนอกทั่วไป ผู้ป่วยในทั่วไป บริการเฉพาะ บริการเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ แพทย์แผนไทย ค่าบริการทางการแพทย์ที่เบิกจ่ายในลักษระงบลงทุน เงินช่วยเหลือผู้รับบริการและผู้ให้บริการ และบริการจ่ายตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการ
2.หมวดงบค่าบริการอื่นนอกงบเหมาจ่าย จำนวน 16,824.30 ล้านบาท แยกย่อยเป็น 6 เรื่อง คือ ค่าบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 3,596 ล้านบาท ค่าบริการสาธารณสุขผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 9,405 ล้านบาท ค่าบริการสาธารณสุขเพื่อควบคุมป้องกันความรุนแรงของโรคเรื้อรัง 1,037 ล้านบาท ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 1,490 ล้านบาท ค่าบริการผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิง(ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุมีภาวะพึ่งพิงและผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง) 1,025 ล้านบาท และค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว 268 ล้านบาท และ3.หมวดเพิ่มเติมเฉพาะกรณี คือ ค่าชดเชยวัคซีนป้องกัน หัด คางทูม และหัดเยอรมันเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดในภาคใต้ปีงบประมาณ 2561-2562 จำนวน 27 ล้านบาท ทั้งนี้ งบประมาณทั้งหมดหลังหักเงินเดือนบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นงบประมาณสู่การบริหารของสปสช.จำนวน 140,769.13 ล้านบาท
“คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานฯ ได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณ ส่วนใหญ่คงการบริหารเหมือนปี 2562 แต่เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ใหม่หรือปรับปรุงการจ่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นสอดคล้องกับแนวทางระดับชาติด้านสาธารณสุข แนวทางการจ่ายค่าใช้จ่ายที่ไม่ซับซ้อน การเข้าถึงยาของประชาชน รวมระบบบริหารการจ่ายชดเชยเพื่อความสะดวกรับส่งข้อมูลของหน่วยบริการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ไทยและแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย”ศ.นพ.ปิยะสกลกล่าว
สำหรับประเด็นที่เปลี่ยนแปลงในปีงบประมาณ 2563 ส่วนของหมวดงบเหมาจ่ายรายหัว 1.กรณีงบผู้ป่วยนอก ได้แก่ เพิ่มบริการตรวจคัดกรองยีนส์ HLA`B*1502 เพื่อป้องกันอาการสตีเวนส์ จอห์นสัน ซินโดรม จากการแพ้ยาคาร์บามาซีปีน(Carbamazepine) เพิ่ม ยาโดนีพีซิล(Donepezil) สำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระดับรุนแรงน้อยถึงปานกลาง การจ่าย บริการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เบื้องต้น(Fit Test) รวมไปกับเหมาจ่ายผู้ป่วยนอกทั่วไป 2.กรณีงบผู้ป่วยใน อาทิ รวมการบริการตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพิ่มรายการจ่ายชดเชยแบบบริการผ่าตัดวันเดียวกลับบ้านระหว่างปีได้ภายใต้วงเงินที่มี และกระจายอำนาจให้ระดับเขตกำหนดอัตราจ่ายเงื่อนไขพิเศษระดับเขต เป็นต้น กรณีงบบริการเฉพาะ อาทิ เริ่มบริการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตกรณีธาลัสซีเมีย เป็นต้น
และ3.กรณีเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพิ่มวัคซีนโรต้าไวรัสเพื่อป้องกันโรคท้องร่วงในเด็ก เพิ่มยาเมดาบอนป้องกันยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย นำร่องคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นไป ปรับการจ่ายชดเชยแบบตามรายบริการในบริการตรวจและป้องกันสุขภาพช่องปากในหญิงตั้งครรภ์ เพิ่มบริการเคลือบฟลูออไรด์ในเด็กอายุ 4-12 ปีและเคลือบหลุมร่องฟันในเด็กอายุ 6-12 ปี และเพิ่มทางเลือกคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีเจาะลึกระดับดีเอ็นเอ(HPV DNA test)เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อพิจารณางบฯกองทุนบัตรทองในปี 2563 เทียบกับปี 2562 พบว่า ในส่วนของหมวดงบฯเหมาจ่ายรายหัวนั้น เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 173.44 บาทต่อคนต่อปี จาก 3,426.56 บาทต่อคนต่อปีเป็น 3,600 บาทต่อคนต่อปี โดยส่วนที่ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นในอัตราสูงที่สุด อยู่ในหมวดค่าบริการอื่นๆ นอกงบเหมาจ่าย คือ ค่าบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ได้รับ 3,596 ล้านบาท ปี 2562 ได้รับ 3,046 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 550 ล้านบาท หรืออัตรา 18 % และค่าบริการสาธารณสุขผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ได้รับ 9,405 ล้านบาท ปี 2562 ได้รับ 8,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,123 ล้านบา หรืออัตรา 13.6 %