ชป.เตรียมพร้อมรับมืออิทธิพล พายุโซนร้อน 'มูน'
ชป.เตรียมพร้อมรับมืออิทธิพล พายุโซนร้อน “มูน” อาจส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก
กรมชลประทาน เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักต่างๆ เตรียมความพร้อมเครื่องจักร-เครื่องมือ ระบบอาคารชลประทาน ให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากได้รับผลกระทบจาก พายุโซนร้อน “มูน” (MUN)
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่า พายุโซนร้อน “มูน” (MUN) บริเวณเกาะไหหลำ ประเทศจีน กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งระหว่างประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศจีน ในช่วงวันที่ 3 – 4 กรกฎาคม 2562 ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรง โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ นั้น
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปัจจุบัน(3 ก.ค. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 37,386 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.)คิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด เป็นน้ำใช้การได้ 13,461 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันมากกว่า 38,600 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,941 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 2,245 ล้าน ลบ.ม. ซึ่ง 4 เขื่อนหลัก ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 15,900 ล้าน ลบ.ม.
ด้านแม่น้ำสายหลักต่างๆทั่วประเทศ อยู่ในเกณฑ์ปกติ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันแม่น้ำปิง ที่สถานีวัดน้ำ P.17 บริเวณบ้านท่างิ้ว อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 5 เมตร เช่นเดียวกับแม่น้ำน่าน ที่สถานีวัดน้ำ N.67 บริเวณวัดเกยไชยเหนือ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 9 เมตร ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 361 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 8 เมตร และยังคงการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 70 ลบ.ม./วินาที เพื่อรักษาระบบนิเวศ ทั้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนที่ อ.บางไทร มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 75 ลบ.ม./วินาที สถานการณ์น้ำอยู่ในภาวะปกติ
กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทุกแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยการกำชับเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตน อย่างใกล้ชิด ตรวจสอบระบบและอาคารชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมไปถึงการกำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาวะการณ์ที่เกิดขึ้นตามแต่ละช่วงเวลา พร้อมทั้งบูรณาการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์ล่วงหน้า ที่สำคัญได้กำชับให้เตรียมพร้อมทางด้านเครื่องจักร เครื่องมือ และกำลังเจ้าหน้าที่ประจำไว้ตามจุดเสี่ยงภัยน้ำท่วมทั่วประเทศ ที่พร้อมจะเข้าไปปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิดต่อไปด้วย