พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน 24 ต.ค. 62

พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน 24 ต.ค. 62

หมายกำหนดการ 24 ต.ค. 62 ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

วันนี้ (5 ก.ค.62) เวลา 15.30 น. พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เป็นประธานในการแถลงข่าว การเตรียมการจัดขบวนเรือพระราชพิธี ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ณ ห้องรับรองชั้น 2 อาคารส่วนบัญชาการกองทัพเรือพื้นที่วังนันทอุทยาน

โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย พลเรือเอกสมหมาย วงษ์จันทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ พลเรือโทจงกล มีสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนพระราชพิธี พลตำรวจโท สุทิน ทรัพย์พ่วง ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พรทิพย์ อุดมเวทยนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเฉลิมพระเกียรติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นางประนอม คลังทอง รองอธิบดีกรมศิลปากร นายวิเชียร เปมานุกรรักษ์ ผู้แทนกรมเจ้าท่า

พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 กล่าวว่า รัฐบาลมอบภารกิจในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ ถือเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย ให้กองทัพเรือเป็นหน่วยงานหลักในการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานอนุกรรมการ และมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ เช่น กรมศิลปากร กรมเจ้าท่า กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

10159650485117

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานราชการในพระองค์เป็นที่ปรึกษาและอนุกรรมการ คอยให้คําปรึกษาและข้อแนะนําการปฏิบัติต่าง ๆ ให้แก่คณะอนุกรรมการ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สง่างาม และสมพระเกียรติ โดยการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ได้จัดเตรียมเรือพระราชพิธี รวมทั้งสิ้น จํานวน 52 ลํา โดยมีเรือที่สําคัญเป็นเรือพระที่นั่ง 4 ลำได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 นอกจากนี้ ยังมีเรือพระราชพิธีอื่นด้วยเช่น เรือรูปสัตว์ เรือดั้ง เรือแซง เป็นต้น

10159650664770

ในการนี้กองทัพเรือจึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการซ่อมทําบูรณะเรือพระราชพิธี โดยแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนการซ่อมตัวเรืออยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือ โดยกรมอู่ทหารเรือ และส่วนการตกแต่งตัวเรืออยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากร โดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ปัจจุบันได้ดำเนินการซ่อมบูรณะเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว เรือพระราชพิธีทั้ง 52 ลำอยู่ในสภาพพร้อมที่เข้าร่วมพระราชพิธีฯ ในครั้งนี้ ซึ่งในวันที่ 11 ก.ค.62 จะได้ดำเนินการประกอบพิธีบวงสรวงเรือพระที่นั่งและเรือรูปสัตว์ จำนวน 14 ลำ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี และโรงเรือพระราชพิธีท่าวาสุกรี

จากนั้นวันที่ 12 - 23 ก.ค.62 จะเชิญเรือพระที่นั่งและเรือรูปสัตว์ลงน้ำ และลากจูงเรือเข้าเก็บที่อู่ทหารเรือธนบุรี เพื่อเตรียมงานพระราชพิธี

ด้านกำลังพลประจำเรือพระราชพิธี ได้คัดเลือกกำลังพลจากหน่วยงาน ต่างๆ ของกองทัพเรือ จำนวน 2,200 นาย ส่วนใหญ่เป็นกำลังพลที่ไม่เคยเป็นกำลังพลประจำเรือพระราชพิธีมาก่อน และได้ฝึกซ้อมต่อเนื่อง ปัจจุบันได้รับการฝึกความคุ้นเคยกับเรือภายในหน่วยเสร็จสิ้นแล้วต่อไปเป็นการฝึกซ้อมในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคมเป็นต้นไป

10159650818106

สำหรับกำหนดการฝึกซ้อมในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นการฝึกเข้ารูปขบวน และการเดินทางเป็นรูปขบวน เดินทางตามลำดับ มีกำหนดซักซ้อมในแม่น้ำเจ้าพระยา 10 ครั้ง แบ่งเป็นการซ้อมย่อย จํานวน 8 ครั้ง และซ้อมใหญ่ จํานวน 2 ครั้ง เป็นการซ้อมเสมือนวันพระราชพิธีฯ เพื่อให้มีความพร้อมที่ปฏิบัติงานในวันพระราชพิธีฯ การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จประทับบนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในวันที่ 24 ต.ต. 62

ทั้งนี้ เส้นทางเสด็จพระราชดําเนิน ที่ได้เตรียมไว้เป็นเส้นทางเดียวกับที่เคยใช้มาตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ เส้นทางจากท่าวาสุกรี ถึงวัดอรุณราชวราราม รวมระยะทาง 4.2 กิโลเมตร โดยประชาชนสามารถชมการซักซ้อมขบวนเรือพระราชพิธีและเฝ้าฯ รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ส่วนการจัดโดยจัดรูปขบวนเรือ แบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ได้แก่

ริ้วสายกลาง ซึ่งเป็นเรือสายสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ มีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 นอกจากนี้มีเรืออีเหลือง เป็นเรือกลองนอก เรือแตงโม ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ เป็นเรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจใน

ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ และปิดท้ายสายในด้วยเรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก

ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้ง และเรือแซง สายละ 14 ลำ รวมทั้งสิ้น 52 ลำ ทั้งนี้เรือทุกลำทำจากไม้มีอายุในการสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 อายุนับร้อยปี ซึ่งการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค นับเป็นวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ของชาติไทย ถ่ายทอดผ่านศิลปกรรม ประติมากรรม จนเป็นลำเรือที่มีความอ่อนช้อยงดงาม เมื่อนำมาผนวกเข้ากับกาพย์เห่เรือเรียงร้อยถ้อยคำ ตามฉันทลักษณ์ที่ดังไปทั่วคุ้งน้ำที่มีการประพันธ์ขึ้นใหม่โดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ศิลปินแห่งชาติ จำนวน 3 องก์ โดยภาพดังกล่าว จะถ่ายทอดสู่สายตาชาวไทยและชาวโลกอีกครั้งในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอันยิ่งใหญ่

10159660357937

10159653413193

10159652799200

10159652278187

10159651812298