ดอยช์แบงก์ปรับโครงสร้างรับหุ้นโลกปรับฐาน

ดอยช์แบงก์ปรับโครงสร้างรับหุ้นโลกปรับฐาน

ขณะผู้บริหารดอยซ์แบงก์สาขาประเทศไทยยืนยันธุรกิจอยู่ในส่วนที่เป็นธุรกิจหลัก จึงให้บริการเต็มรูปแบบตามปกติและไม่มีแผนปรับลดพนักงาน

แผนปรับโครงสร้างใหญ่ของดอยซ์แบงก์ ระยะ 3 ปี ครอบคลุมถึงการปลดพนักงาน 18,000 คน ส่งสัญญาณว่าธนาคารชั้นนำของเยอรมนีแห่งนี้ปรับตัวรับตลาดหุ้นโลกที่กำลังปรับฐาน ท่ามกลางความไม่แน่นอนในนโยบายปรับลดดอกเบี้ยของเฟด ขณะที่ดอยซ์แบงก์ประเทศไทย ยืนยันไม่ได้รับผลกระทบจากแผนปรับโครงสร้างใหญ่บริษัทแม่

ดอยซ์แบงก์ ธนาคารใหญ่สุดของเยอรมนี ประกาศปรับลดพนักงาน 18,000 ตำแหน่ง เหลือ 74,000 ตำแหน่งภายในปี 2565พร้อมทั้งปรับลดสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงลงราว 40% ในธุรกิจที่ประสบปัญหา และจะไม่มีการจ่ายเงินปันผลในปี 2562 และ 2563 ซึ่งนายเจมส์ ฟอน มอลท์เก หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ)ของธนาคารดอยซ์แบงก์กล่าวว่า แผนการปรับโครงสร้างธนาคารครั้งล่าสุดนี้ จะเป็นการปรับโครงสร้างครั้งสุดท้าย หลังจากที่ได้ดำเนินการดังกล่าวมาหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

“เรามีความมั่นใจว่าการปรับโครงสร้างครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายของทางธนาคาร โดยเรากำลังมองไปข้างหน้า และให้ความสนใจธุรกิจหลักของเรา ซึ่งการปลดพนักงานถือเป็นสิ่งที่เจ็บปวดสำหรับพวกเราทุกคน แต่ก็เป็นผลลัพธ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการปรับโครงสร้าง” นายมอลท์เก กล่าว

ล่าสุด มอร์แกน สแตนเลย์ วาณิชธนกิจชื่อดังของสหรัฐ ได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกลงไปอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี พร้อมทั้งให้คำแนะนำลงทุนในตลาดหุ้นโลกในระดับ Underweight เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะดำเนินนโยบายดอกเบี้ยในระดับสูง

ด้าน นางภิมลภา สันติโชค  กรรมการผู้จัดการและผู้จัดการทั่วไปธนาคารดอยซ์แบงค์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การปรับกุลยุทธ์ครั้งใหญ่ของธนาคารดอยซ์แบงก์เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจธนาคารสาขาประเทศไทยที่ดำเนินการอยู่ โดยเป็นการประกาศของสำนักงานใหญ่ เป็นการปรับลดธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ตลาดทุนในบางส่วน และหันมาเน้นธุรกิจหลักของธนาคาร คือ การทำธุรกรรมทั่วไปของธนาคาร ธุรกิจด้านอัตราแลกเปลี่ยนและการป้องกันความเสี่ยง บริการด้านออกตราสารหนี้ ด้านเงินกู้ยืม และเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับลูกค้าขนาดใหญ่

ผู้บริหารดอยซ์แบงก์ประเทศไทยมั่นใจว่า แผนทั้งหมดนี้จะช่วยให้ธนาคารมีต้นทุนการทำงานทีดีขึ้น มีประสิทธิภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว สำหรับสาขาประเทศไทย ธุรกิจอยู่ในส่วนที่เป็นธุรกิจหลัก จึงให้บริการเต็มรูปแบบตามปกติและไม่มีแผนปรับลดคนใดๆ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังจัดอยู่ในประเทศที่ต้องการการเติบโตทางเศรษฐกิจ เหมือนกับประเทศอื่นๆในเอเซีย