แพทย์แนะวิธีดูแลผิวในผู้สูงอายุ
สถาบันโรคผิวหนังแนะวิธีดูแลผิวในผู้สูงอายุจากปัญหาโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย เช่น ผิวแห้ง ผื่นคันจากอาการแพ้ ผมร่วง และคันศีรษะจนถึงมะเร็งผิวหนัง หากมีตุ่ม ก้อนเนื้อ แผลเรื้อรัง หรือพบว่าไฝมีขนาดใหญ่ขึ้น สีเปลี่ยน มีเลือดออก ควรรีบพบแพทย์ผิวหนังทันที
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เนื่องจากปัจจุบันมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจสังคมอย่างรวดเร็ว ร่วมกับมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและการแพทย์ที่ทันสมัยมากขึ้น จึงทำให้ผู้สูงอายุมีอายุยืน โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีสุขภาพแข็งแรง ยังทำงานได้เหมือนหนุ่มสาว อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าผู้สูงอายุจะมีอายุยืนยาวขึ้นกว่าเดิม แต่ร่างกายมีการเสื่อมของอวัยวะต่างๆโดยเฉพาะผิวหนังจะพบมีการเหี่ยวย่น ตกกระ มีจุดด่างดำและจุดขาว ดังนั้นการดูแลผิวที่ถูกวิธีจึงจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากโรคผิวหนังส่วนใหญ่มีอาการเรื้อรังทำให้ต้องดูแลอย่างสม่ำเสมอ
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่าผิวหนังมีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ซึ่งการหมุนเวียนทดแทนเซลล์ผิวหนังเก่าจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ผิวหนังชั้นหนังกำพร้าจะหลุดลอกและเปลี่ยนแปลงเซลล์ใหม่ในเวลา 4 สัปดาห์ แต่วงจรนี้จะเพิ่มเป็น 2 เท่าในผู้สูงอายุ ทำให้ผิวหนังแห้งเป็นขุยมีสะเก็ด ช่วงวัยรุ่นผิวจะค่อนข้างมันพอเข้าสู่วัยกลางคนผิวเริ่มเสื่อมรูขุมขนขยายกว้างขึ้นมีริ้วรอย และเมื่อถึงวัยสูงอายุริ้วรอยจะเห็นชัดขึ้นผิวหนังหย่อนคล้อยมีร่องแก้ม ร่องใต้ตา ผิวแห้งเป็นขุยและคันเพราะผิวเสื่อมสภาพไขมันใต้ผิวน้อยลง ส่งผลให้ความต้านทานของผิวต่อสภาพอากาศน้อยลง แพ้สิ่งต่างๆได้ง่าย และจะต่างกันไปในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับพันธุกรรม พฤติกรรมของแต่ละบุคคล ทั้งนี้โรคผิวหนังในผู้สูงอายุที่พบได้บ่อย เช่น ผิวแห้ง ผื่นคันจากอาการแพ้ ผิวหนังตกกระ กระเนื้อ กระนูน กระสีน้ำตาล ผมร่วง และคันศีรษะ มะเร็งไฝมะเร็งผิวหนัง สำหรับวิธีดูแลผิวในผู้สูงอายุ คือหลีกเลี่ยงการอาบน้ำที่ร้อนเกินไป ผู้ที่ผิวแห้งมากอาจไม่จำเป็นต้องใช้สบู่ ไม่ควรขัดผิว และอาจลดการอาบน้ำลงเหลือเพียงวันละ 1 ครั้ง เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ถนอมผิวไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่หลีกเลี่ยงแสงแดดจัดทาครีมกันแดดสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดรับประทานอาหารครบห้าหมู่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอหากมีตุ่ม ก้อนเนื้อ แผลเรื้อรัง หรือพบว่าไฝมีขนาดใหญ่ขึ้น สีเปลี่ยน มีอาการปวดหรือมีเลือดออก ควรพบแพทย์ผิวหนังทันที