วิศวกรฯ ชี้ สนิมเหล็ก เหตุแผ่นปูนร่วง
จากเหตุการณ์แผ่นปูนร่วงลงมาจากสถานีรถไฟฟ้าแห่งหนึ่ง เมื่อเร็วๆนี้ ก่อให้เกิดความกังวลในความปลอดภัยของประชาชนที่เดินบนทางเท้าใต้สถานีรถไฟฟ้า ซึ่งมีหลายแห่งใน กทม.
ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าว่า สำหรับสาเหตุที่แผ่นปูนร่วงลงมานั้น เบื้องต้นพบว่าเกิดจากการเป็นสนิมของเหล็กเสริมดด้านใน แล้วทำให้แผ่นปูนตกร่วงลงมาเป็นอันตรายต่อประชาชนและผู้ขับขี่ยานพาหนะ สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดสนิมและแผ่นปูนร่วงลงมานั้น ในทางวิศวกรรมอาจสรุปได้ 3 ปัจจัย
1.สภาพสิ่งแวดล้อมในเขตเมืองซึ่งมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งริมถนนที่มีการจราจรมาก ทำให้เกิดปฏิกริยาคาร์บอเนชั่น และลดความเป็นด่างในคอนกรีตลงซึ่งทำให้เหล็กเสริมเป็นสนิมได้ง่ายขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงฤดูฝนมีความชื้นในอากาศมาก ทำให้เหล็กเป็นสนิมได้ง่ายขึ้น
2.ระยะหุ้มคอนกรีต หากคอนกรีตมีระยะหุ้มเหล็กน้อยไป จะส่งผลให้สารเคมีในบรรยากาศแพร่เข้าไปทำปฏิกริยากับเหล็กเสริมด้านใน เกิดเป็นสนิมได้ง่ายขึ้น
3.การยึดแผ่นปูนกับเข้ากับโครงสร้างหลัก ต้องตรวจสอบว่าใช้การยึดรั้งด้วยวัสดุอะไร เหล็กฉาก หรือ เหล็กเส้น ตลอดจนวิธีการเชื่อมต่อ หากทำไม่ถูกวิธี แผ่นปูนจะร่วงลงมาได้ง่าย
สำหรับแนวทางป้องกันปัญหาแผ่นปูนร่วงเบื้องต้นนั้น ต้องมีการตรวจสอบโดยวิศวกรที่มีความชำนาญ โดยแบ่งเป็น 1. การตรวจสอบเชิงพินิจ ซึ่งเป็นการดูด้วยสายตา แต่วิธีการนี้ก็อาจตรวจไม่พบสนิมที่เกิดขึ้นด้านใน และ 2. การตรวจสอบโดยใช้เครื่องมือเบื้องต้น เช่น Half Cell Potential ซึ่งจะวัดความต่างศักย์ของกระแสไฟฟ้าภายในเหล็กเสริมและสามารถบ่งชี้โอกาสการเกิดสนิมเหล็กได้ ดังนั้น เพื่อให้การตรวจสอบเกิดประสิทธิภาพ
ดร.อมร กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปตรวจสอบ ควรมีวิศวกรเข้าร่วมด้วยและควรใช้เครื่องมือในการตรวจสอบดังกล่าวร่วมด้วย เพราะการตรวจสอบด้วยสายตาอย่างเดียวอาจไม่พบสนิม และเมื่อพบบริเวณที่อาจเกิดสนิมแล้ว ให้รื้อแผ่นปูนส่วนนั้นออกแล้วทำจุดยึดใหม่ให้แข็งแรง สำหรับความถี่ในการตรวจสอบนั้น
ผมแนะนำว่า จะต้องตรวจสอบเป็นประจำเช่น ทุกๆสามเดือนเป็นอย่างน้อย เพราะอาจมีสนิมบางตำแหน่งที่อาจมองไม่เห็นในตอนนี้ นอกจากแผ่นปูนนี้แล้ว ให้ระวังกันสาดหรือหลังคายื่นของตึกแถวหรืออาคารพาณิชย์ริมถนน ก็อาจร่วงลงมาได้เช่นกัน จึงไม่ควรประมาท และควรใช้โอกาสนี้ตรวจสอบไปพร้อมกันด้วย