แนะประชาชนลดเสี่ยงโรคหนอนพยาธิ ด้วยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก
กรมควบคุมโรค แนะประชาชนลดเสี่ยงโรคหนอนพยาธิ ด้วยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน ล้างผัก ผลไม้ให้สะอาด และถ่ายอุจจาระลงส้วม
วันนี้ (15 กรกฎาคม 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวหญิงรายหนึ่งมีซีสต์หรือถุงตัวอ่อนพยาธิตืดหมูฝังอยู่ในลิ้น นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า พยาธิตืดพบได้ทั้งในคนและในสัตว์เลี้ยงที่สามารถติดต่อมาสู่คนได้ เช่น หมู สุนัข แมว วัว ควาย รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ส่วนพยาธิตืดหมูที่พบในคนจะมีหมูเป็นตัวนำกึ่งกลางกินอาหารที่ปนเปื้อนไข่พยาธิ หรือในอุจจาระคน แล้วเกิดเป็นถุงตัวอ่อนในหมูเรียกกันว่าพยาธิเม็ดสาคูในเนื้อหมู เมื่อคนกินเม็ดสาคูในเนื้อหมูเข้าไป จะเจริญเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้เล็ก และพยาธิตืดมีอายุในคนได้นานถึง 25 ปี ซึ่งสามารถกินยาถ่ายพยาธิตืดออกมาได้
หากคนเรากินอาหารที่มีไข่พยาธิตืดหมูที่ปนเปื้อนมากับอาหารหรือน้ำดื่ม หรืออาเจียนขย้อนพยาธินี้มาที่กระเพาะ พยาธิตัวอ่อนจะฟักจากไข่แล้วไชทะลุลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดหรือน้ำเหลืองไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น สมอง ตา กล้ามเนื้อ กระพุ้งแก้ม และลิ้น เป็นต้น ซึ่งการเกิดโรคมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตำแหน่ง จำนวน และอายุของถุงตัวอ่อนที่เข้าไปฝังอยู่ที่อวัยวะใด เช่น ฝังที่สมองอาจทำให้เกิดอาการชัก ความดันในสมองสูง เคลื่อนไหวผิดปกติ หากฝังที่ตาทำให้บวม เลือดออก มองเห็นมัว หากฝังที่กล้ามเนื้ออาจทำให้กล้ามเนื้ออักเสบรุนแรงในระยะแรก และบวมแดง ดังนั้น การที่ถุงตัวอ่อนพยาธิตืดเข้าไปฝังอยู่ในลิ้นตามที่เป็นข่าว จึงต้องพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และผ่าเอาถุงตัวอ่อนพยาธิออก
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า จากข้อมูลกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคหนอนพยาธิและโปรโตซัวในลำไส้ของประเทศไทย ในปี 2552 เก็บตัวอย่างอุจจาระ 15,555 ตัวอย่าง ตรวจพบพยาธิตืดหมู-วัว 113 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 0.73 และในปี 2557 เก็บตัวอย่างอุจจาระ 10,140 ตัวอย่าง พบพยาธิตืดหมู-วัว 43 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 0.42 ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ได้จัดให้พยาธิตืดหมู และซิสติเซอร์โคซิส เป็นกลุ่มโรคเขตร้อนที่ไม่ได้รับความสำคัญ (เป็นโรคที่ถูกละเลย) แต่ในปี 2553 แผนงานโรคเขตร้อนที่ไม่ได้รับความสำคัญ(โรคที่ถูกละเลย) ได้จัดทำกลยุทธ์ที่จะนำไปสู่เป้าหมายในการควบคุมและกำจัดโรคพยาธิตืดหมู และซิสติเซอร์โคซิส ในประเทศที่ได้รับการเลือกจากองค์การอนามัยโลก ภายในปี 2563
กรมควบคุมโรค แนะประชาชนให้สังเกตตัวเองหากสงสัยว่ามีตัวพยาธิในร่างกาย เช่น มีปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย น้ำหนักตัวลดผิดปกติ ถ้าไม่แน่ใจสามารถไปพบแพทย์ให้ตรวจวินิจฉัย เพื่อให้ยาฆ่าพยาธิที่มีประสิทธิภาพ เพราะอาจเป็นหนอนพยาธิชนิดอื่นๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันระบบสุขาภิบาลและระบบสุขภาพของไทยดีขึ้นมาก การขับถ่ายอย่างเป็นระบบ ทำให้ปัญหาโรคหนอนพยาธิลดลงไปมาก มาตรการในการป้องกันโรคพยาธิตืดหมู ประชาชนควรเลือกซื้อเนื้อหมู ผัก และผลไม้จากแหล่งที่ถูกสุขลักษณะ กรณีเนื้อหมูจะต้องล้างทำความสะอาด หรือแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า –5๐C หรือ 23๐F (การแช่แข็งนานติดต่อกัน 4 วัน สามารถฆ่าตัวอ่อนในถุงหุ้มซีสต์พยาธิตืดได้) และปรุงให้สุกด้วยความร้อน ดื่มน้ำสะอาด ส่วนผัก ผลไม้ต้องล้างผ่านน้ำหลายๆ รอบให้สะอาดก่อนรับประทาน เพราะผักบางชนิดต้องกินสดๆ ถ่ายอุจจาระลงส้วม และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ก่อนปรุงอาหาร และหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง เพราะในสิ่งแวดล้อมทั่วไปก็มีหนอนพยาธิชนิดต่างๆ ด้วยเช่นกัน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422