สมเด็จพระสังฆราชประทาน พระคติธรรมเนื่องในวันอาสาฬหบูชา
"สมเด็จพระสังฆราช" ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันอาสาฬหบูชา ให้ประชาชนทบทวนจิตใจและตั้งปณิธานดำเนินชีวิตด้วย "ปิยวาจา" เพื่อความผาสุก
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) ได้มีพระคติธรรมของเนื่องในวันอาสาฬหบูชา ใจความว่า เดือนอาสาฬหะได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่ง พุทธบริษัททุกหมู่เหล่าพึงระลึกถึง และกระทำสักการบูชาพระรัตนตรัยเป็นกรณีพิเศษ เนื่องด้วยเป็นวันคล้ายวันประกาศพระศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตรเป็นพระปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ กระทั่งมีผู้ได้ดวงตาเห็นธรรม ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา จึงบังเกิดพระรัตนตรัยครบองค์ 3
ธัมมจักกัปปวัตนสูตร มีเนื้อหาแสดงการปฏิเสธส่วนที่สุดโต่งสองทาง คือ การประกอบตัวให้พัวพันด้วยกามสุขทั้งหลาย และการฝืนตนให้ได้รับความทุกข์ทรมาน พร้อมกำหนดแนวทางดำเนินชีวิตโดยทางสายกลาง แสดงถึงขั้นตอนและแนวทางในการปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงความดับทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์ 8 ในอริยอัฏฐังคิกมรรคดังกล่าวนั้น มีข้อปฏิบัติสำคัญเพื่อความพ้นทุกข์ ซึ่งเราทั้งหลายพึงพินิจพิจารณา พร้อมน้อมนำมาปฏิบัติเป็นวิถีปฏิบัติประจำชีวิต ได้แก่ สัมมาวาจา ที่แปลว่า การเจรจาชอบ
ในสังคมที่มีบุคคลหลายหมู่คณะอยู่ร่วมกัน มีผู้คนเจรจาติดต่อกันผ่านอุปกรณ์การสื่อสารอันรวดเร็ว ง่ายดาย ย่อมทำให้ วจีทุจริต หรือ ประพฤติชั่วทางวาจาปรากฎขึ้นอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ คำเท็จ คำหยาบ คำส่อเสียด ล้วนเป็นเหตุใหญ่ของความวิวาทบาดหมาง ขุ่นเคือง และคลางแคลงใจ จึงขอสาธุชนอาศัยดิถีอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา เป็นโอกาสทบทวนจิตใจ และตั้งปณิธานว่า จะดำเนินชีวิตด้วย ปิยวาจา พูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ อ่อนหวาน จริงใจ ไม่พูดหยาบคาย พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ เหมาะกับกาลเทศะ เพื่อความผาสุก ร่มเย็น ของตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคมประเทศชาติสืบไป