เอ็นซีพีสู้ ‘แหลมฉบังเฟส3’ ลุ้นบอร์ดอีอีซีชี้ชะตา 19 ก.ค
ประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ยืดเยื้อ กลุ่ม NCP ชี้เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนรายเดียว จับตา 19 ก.ค.บอร์ดอีอีซีชี้ขาดผลอุทธรณ์กรณีถูกตัดสิทธิไม่เป็นธรรม
กรณีการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนผู้สนใจยื่นข้อเสนอเข้าร่วมลงทุน ออกแบบ ก่อสร้าง ให้บริการและซ่อมบำรุงรักษาโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F มูลค่าโครงการ 5.4 หมื่นล้านบาท มีเอกชนผู้สนใจเข้าเสนอราคา 2 รายคือ กิจการร่วมค้า NCP ประกอบด้วย บริษัทนทลิน, แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ บริษัทลูกของบริษัทพลังงานบริสุทธิ์, China Railway Construction Corporation Limited, บริษัทพริมา มารีน และบริษัทพีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิ่ง
ส่วนอีกราย กิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วยบริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์, พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล บริษัทลูกเครือ ปตท. และ China Harbour Engineering Company Limited
ผลการคัดเลือกคณะกรรมการคัดเลือกตัดสินให้กิจการร่วมค้า GPC เป็นผู้ชนะ ส่วนกิจการร่วมค้า NCP ไม่ผ่านทางด้านคุณสมบัติ เนื่องจากลงนามไม่ครบถ้วนตามสัญญา
แหล่งข่าวจาก NCP เปิดเผยว่า ข้อเท็จจริงคณะกรรมการคัดเลือกเคยพิจารณาแล้วว่า การลงนามในสัญญากิจการร่วมค้าไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาและตำแหน่งการลงนามดังกล่าวไม่ใช่สาระสำคัญของการพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ และประเด็นเกี่ยวกับการลงนามในสัญญากิจการร่วมค้านี้ไม่มีผลให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบต่อผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น เป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย จึงแจ้งให้กิจการร่วมค้า NCP ชี้แจง และ NCP ได้มีหนังสือชี้แจง นำส่งเอกสารเพิ่มเติมพร้อมทั้งนำส่งสัญญากิจการร่วมค้าฉบับใหม่ให้กับ กทท. ถือเป็นการส่งเอกสารครบถ้วนถูกต้องแล้ว
ปรากฏว่าผู้อำนวยการ กทท.ได้มีหนังสือแจ้งกลับมาว่าคณะกรรมการคัดเลือกมีมติให้กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในการประชุมครั้งที่ 13/2562 เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2562 ทั้งที่วันดังกล่าวคณะกรรมการคัดเลือกผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นและข้อสังเกตว่าข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอแตกต่างไปจากเงื่อนไขที่กำหนดในส่วนที่มิได้เป็นสาระสำคัญ และความแตกต่างดังกล่าวก็ไม่ได้มีผลทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบต่อผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น และสามารถพิจารณาผ่อนปรนไม่ตัดสิทธิของผู้ยื่นข้อเสนอได้
“ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ยังได้รับการยืนยันจากผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นครั้งที่ 2 ยังมีผู้แทนของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายได้มีความเห็นพ้องด้วยกับผู้แทนจากอัยการ อีกทั้งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของ EEC ยังให้ความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน” แหล่งข่าวระบุ
นอกจากนี้ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่าการที่คณะกรรมการคัดเลือกมีมติให้ผู้ร้องเรียนเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเนื่องจากความไม่ถูกต้องครบถ้วนของเอกสารที่มีการลงนามนั้น เป็นการพิจารณาที่อาจจะคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และได้มีข้อเสนอแนะให้ส่งเรื่องให้ กทท.และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกพิจารณา แต่ กทท.ไม่ได้ดำเนินการ
ส่วนการตัดสิทธิกิจการร่วมค้า NCP นั้นมีการอุทธรณ์ตามลำดับชั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะมีการพิจารณาอุทธรณ์ของกิจการร่วมค้า NCP ในวันที่ 19 ก.ค.นี้
“หากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีคำสั่งตรงกันข้าม หรือสวนกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายโดยยกเอาความไม่เป็นสาระสำคัญมามีมติให้กิจการค้า NCP เป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการได้ใช้ดุลยพินิจและมีคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อต้องการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนในโครงการ ที่เหลือเพียงรายเดียว ถือว่าไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส เพราะปราศจากคู่เปรียบเทียบ”
แหล่งข่าวแจ้งว่าเอกชนที่เหลือรายเดียวกันนั้นเสนอผลประโยชน์ให้รัฐน้อยกว่ากิจการร่วมค้า NCP ประมาณหมื่นล้านบาท การกระทำดังกล่าวทำให้เอกชนได้รับความเสียหาย จึงอาจมีการฟ้องร้องผู้ที่เกี่ยวข้อง ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และศาลปกครองกลาง และฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำด้วย
นอกจากนี้ พรรคฝ่ายค้านอย่างน้อย 7 พรรคยังมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าว และได้เตรียมหลักฐานสำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว