'ศรีสุวรรณ' ร้องผู้ตรวจสอบ กม.ปศุสัตว์สวนทางนโยบายรัฐ
“ศรีสุวรรณ” นำเอกชนนำเข้า-ส่งออกไก่แช่แข็ง ร้องผู้ตรวจ หลังศุลกากรอายัดสินค้า ระบุทำธุรกิจตามนโยบายรัฐบาล ส่งเสริมไทยเป็นศูนย์กลางส่งสินค้าข้ามพรมแดน แต่ถูกกรมปศุสัตว์ส่งความเห็นกฤษฎีกา สวนทางนโยบาย "ประยุทธ์"
เมื่อวันที่ 18 ก.ค.62 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พร้อมนายบริบูรณ์ ลออปักษิณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมอร์ลิน โฟรเซ่น ฟู๊ด จำกัด ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินกรณีกรมศุลกากรละเมิดกฎหมายเขตปลอดอากร ไม่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล และกฎหมายส่งเสริมการค้าในพื้นที่ปลอดอากร จนทำให้เอกชนได้รับความเสียหาย
โดยนายศรีสุวรรณ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายใช้เขตปลอดอากรเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาค CLMV เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการค้าขาย โดยพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 152 ระบุให้ผู้ประกอบการที่สั่งนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์จากต่างประเทศมาพักไว้ที่คลังสินค้าปลอดอากร เพื่อจำหน่ายไปยังต่างประเทศ โดยได้รับการยกเว้น ไม่ต้องขอใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อมาเอกชนจึงได้สั่งนำเข้าชิ้นส่วนไก่มาพักในเขตปลอดอากรเพื่อส่งต่อไปจำหน่ายยังต่างประเทศ จากนั้นกรมปศุสัตว์ได้ทำหนังสือไปสอบถาม กฤษฎีกาว่ากรณีนำเข้าดังกล่าวต้องขออนุญาต และปฏิบัติพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ด้วยหรือไม่ โดยกฤษฎีกาตอบกลับมาว่า การนำเข้าผลิตภัณฑ์จากสัตว์ต้องได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ เป็นผลให้กรมศุลกากรสั่งอายัดสินค้าของเอกชน จนทำให้เกิดความเสียหาย
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่านโยบายของรัฐบาล พ.ร.บ.ศุลกากร และพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ เป็นข้อกฎหมายที่ขัดแย้งกันอยู่ จึงยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาเพื่อทำข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล หากการนำเข้าเพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์ต้องขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ขอให้รัฐบาลยกเลิกนโยบาย สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้า และการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงแก้ไขพ.ร.บ.ศุลกากรให้สอดคล้องกัน
ด้านนายบริบูรณ์ กล่าวว่า ตนเป็นผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกอาหารแปรรูปแช่แข็ง เดิมทำธุรกิจแบบนำผ่านไปยังประเทศที่ 3 แต่เมื่อรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจ E-Commerce และออกพ.ร.บ.ศุลากร ฉบับใหม่ตนจึงเปลี่ยนรูปแบบการค้ามาเป็นนำเข้าเพื่อส่งออก เพราะสามารถยกเว้นค่าธรรมเนียมนำเข้า และค่าสินค้าผ่านแดน ซึ่งบริษัทได้ทำธุรกิจในรูปแบบดังกล่าวมานาน 1 ปี จนกระทั่งกรมปศุสัตว์นำความเห็นของกฤษฎีกา มายื่นต่อกรมศุลกากรเพื่ออายัดสินค้าของตน ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเสียหาย และยังมีข้อข้องใจว่าทำตามนโยบายนายกฯทุกอย่าง แต่สินค้ากลับถูกอายัด และต้องการให้รัฐบาลตรวจสอบว่านโยบายที่ออกนำไปปฏิบัติได้จริงหรือไม่ มีหน่วยงานใดงุบงิบทำหนังสือถึงกฤษฎีกา เพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาลหรือไม่ เพราะเท่าที่ตรวจสอบมีเพียงผลิตภัณฑ์จากสัตว์เท่านั้นที่ต้องขอใบอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ ส่วนสินค้าประเภทพืช ผัก และยารักษาโรค ไม่ต้องยื่นขอใบอนุญาต