'LINE' ปรับโมเดลชาร์จค่าบริการ ไล่ต้อน 'สื่อ-เอสเอ็มอี' พ้นวงจร
LINE เตรียมใช้วิธี “บรอดแคสต์” ข้อความไปยังผู้ใช้งาน ส่งผลกระทบผู้ทำหน้าที่กระจายข้อมูลข่าวสารไปยังผู้บริโภค ต้องแบกต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการวิธีคิดราคาค่าบริการไลน์แบบภาคธุรกิจ
จากกรณีที่มีข่าวว่า LINE จะมีการปรับวิธีคิดราคาค่าบริการไลน์เป็นแบบภาคธุรกิจ วงการสื่อสารมวลชนที่ทำหน้าที่กระจายข้อมูลข่าวสารไปยังกลุ่มผู้บริโภค จะได้รับผลกระทบเรื่องภาระต้นทุนเป็นอย่างมาก
รายงานข่าวระบุว่าภายหลังจากไลน์ควบรวมบริการ LINE@ เข้ากับ LINE Official Account แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ‘LINE Official Account’ เพื่อให้บริการบรอดแคสต์ข้อความจากองค์กรไปยังผู้ใช้งานไลน์ เพื่อสร้างกลุ่มผู้ติดตาม แม้จะมีเครื่องมือทางการตลาดเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น แต่การบรอดแคสต์ข้อความแต่ละครั้งไปยังกลุ่มผู้ติดตาม แบรนด์หรือองค์กรต้องจ่ายด้วยต้นทุนสูง เป็นภาระที่ผู้ประกอบการธุรกิจต้องจ่ายเพิ่ม โดยเฉพาะวงการสื่อสารมวลชนที่ทำหน้าที่กระจายข้อมูลข่าวสารไปยังกลุ่มผู้บริโภคผ่านบริการบรอดแคสต์
เรียกได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวของทางไลน์ ถือเป็นการทำลายวงการสื่อสารมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปยังสาธารณะ เนื่องจากต้นทุนที่เรียกจัดเก็บนั้นสูงเทียบเท่ากับภาคธุรกิจ ไม่สามารถให้บริการบรอดแคสต์ไปยังผู้ติดตามข้อมูลข่าวสารเหมือนที่ผ่านมา และส่งผลเป็นลูกโซ่ไปยังกลุ่มผู้ใช้ไลน์เอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ติดตามข้อมูลข่าวสาร ที่จะไม่ได้รับบริการเนื้อหาอันเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สังคม หรือเศรษฐกิจ
ข้อมูลจากสมาคมมีเดียเอเจนซีและธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย หรือ MAAT ระบุว่า เม็ดเงินโฆษณาเข้าสู่สื่อดิจิทัล อินเตอร์เน็ต เติบโตขึ้นทุกปี คาดการณ์ว่าในปี 2562 มีมูลค่ารวม 1.87 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 25% แต่เม็ดเงินมากกว่า 90% เป็นรายได้ของโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ทั้งเฟซบุ๊ก (Facebook) กูเกิล (Google) ยูทูบ (YouTube) และไลน์ (Line)
การปรับเปลี่ยนจาก LINE@ สู่ LINE Official Account เป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปีนี้สำหรับเจ้าของธุรกิจ นักขาย และนักการตลาด เริ่มจาก “ราคา” สิ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่อง” ราคา” จากเดิมที่ราคาแพ็กเกจรายเดือนของ LINE@ จะอยู่ช่วง 0 – 6,888 บาทต่อเดือน ซึ่งจะจำกัดหรือคิดราคาเฉพาะจำนวน Reach หรือยอดคนที่ได้รับข้อความ ส่วนจำนวนข้อความนั้น ส่งได้ไม่จำกัด
แต่สำหรับ LINE Official Account แม้มองดูเผินๆ ราคาแพ็กเกจอาจจะถูกกว่า คือ 0 – 1,500 บาท เท่านั้น แต่จะจำกัดจำนวนข้อความสูงสุดเพียง 10,000 ข้อความเท่านั้น ส่วนข้อความที่เกินมาจะคิดตาม จำนวนข้อความ x Reach ที่ส่งไปจริง
ลองคำนวณเล่นๆ ออกมา โดยเลือกซื้อแพ็กเกจระดับเดียวกัน คือ ระดับโปร ตัวเลขที่ออกมาก็ค่อนข้างน่าตกใจทีเดียวอย่างตัวอย่างสมมติ ถ้ามี Target Reach อยู่ 50,000 รายชื่อ และจะส่งข้อความสัปดาห์ละครั้ง หรือ 200,000 ข้อความต่อเดือน แพ็กเกจของ LINE@ ก็จ่ายเพียง 1,998 บาท แต่หากเป็น LINE Official Account จะต้องจ่ายค่าแพ็กเกจ 1,500 บาท + จำนวนข้อความที่ส่งเกินแพ็กเกจ อีกถึง 18,400 บาท
สรุป LINE Official Account ต้องจ่าย 19,900 บาท หรือราคาต่างกันถึงเกือบ 10 เท่าตัว!
สำหรับบริษัทใหญ่ๆ ที่ใช้ LINE Business Connect อยู่แล้วคงจะไม่ตกอกตกใจสักเท่าไหร่ (เพราะบริษัทใหญ่ๆ จ่ายเป็นล้านอยู่แล้ว) แต่สำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่ใช้ LINE@ ในการ Broadcast หาผู้ติดตามหลักหมื่นหลักแสนทุกวัน วันละหลายครั้ง อาจจะมีกระอัก เพราะถ้าอิงตามวิธีการ Broadcast ราคาใหม่ที่ต้องจ่ายอาจจะขึ้นไปถึงหลักหลายหมื่นต่อเดือน
สิ่งที่จะเห็นอีกก็คือจะมีธุรกิจที่โบกมือจากไป ซึ่งผมคิดว่าธุรกิจกลุ่มแรกที่จะไม่ไปต่อกับ LINE Official Account แน่ๆ คือสื่อเพราะโดยธรรมชาติแล้วสื่อจะต้องมีการสื่อสาร (Broadcast) ที่บ่อย และการสื่อสารต่างๆ นั้นไม่ได้นำมาซึ่งรายได้โดยตรง.