กลุ่มอีอาร์เอส ยื่น6ข้อถึง 'สนธิรัตน์' แก้ด่วนเรื่องร้อนพลังงาน

กลุ่มอีอาร์เอส ยื่น6ข้อถึง 'สนธิรัตน์' แก้ด่วนเรื่องร้อนพลังงาน

ลั่นยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง "รมต.สนธิรัตน์" 6 ประเด็นเร่งแก้ปัญหาพลังงาน "ปิยสวัสดิ์" จี้เคลียร์ปมส่อเอื้อประโยชน์เอกชนมอบสิทธิสร้าง 2 โรงไฟฟ้าภาคตะวันตกไร้การประมูล บั่นทอนธรรมาภิบาลภาครัฐ


กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน หรือ ERS ได้จัดงานครบรอบ 5 ปี และเสวนาภายใต้หัวข้อ 5 ปี ERS : “ทิศทางประเทศไทย ทิศทางพลังงานไทย” เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 ที่หอประชุมสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมเตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) เปิดเผยว่า ภาคพลังงานไทยยังมีปัญหาหลายประการที่ควรได้รับการแก้ไข เพราะหากทิ้งไว้จะทำให้มีความอ่อนแอลงและมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและฐานะการเงินระหว่างประเทศของไทย อาทิ ธรรมาภิบาลด้านบริหารจัดการนโยบายพลังงานที่ยังมีจุดที่ก่อให้เกิดข้อสงสัย เนื่องจากเอกชนบางรายได้ประโยชน์จากนโยบายและการตัดสินใจของหน่วยงานภาครัฐ เช่น การอนุมัติต่ออายุและสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ภาคตะวันตก 2 โรง กำลังผลิตรวม1,400 เมกะวัตต์ (MW) แทนโรงเดียว 700 (MW) ที่หมดอายุลง โดยไม่มีการประมูล

และการเปิดประมูลสร้างท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ที่มีการเพิ่มคลังรับก๊าซ LNG โดยไม่เชื่อมโยงกับแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ ที่สอดคล้องกับแผน PDP 2018 ในส่วนของราคาพลังงานยังมีการอุดหนุนราคาพลังงานบางประเภทแบบ Cross Subsidies ในระดับสูง ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคบางส่วนและไม่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเชื้อเพลิงชีวภาพที่ต้นทุนการผลิตยังสูงเกินควร

ทั้งนี้ ERS ได้เสนอว่าหากรัฐบาลจะใช้ดุลพินิจให้สิทธิประโยชน์แก่เอกชนรายใด เช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยที่ไม่มีการประมูลแข่งขันในการให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐ เช่น ราคาขายไฟฟ้า ก็ควรจะอธิบายว่าการเลือกปฏิบัตินั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะและผู้บริโภคอย่างไร ทำนองเดียวกันการประกาศเงื่อนไขการประมูล (TOR) ก็ควรมีความเป็นกลาง ไม่เอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วยเช่นกัน

ขณะที่ด้านธรรมาภิบาล ERS ยังมีข้อเสนอให้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร อาทิ แก้ไข พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 เพื่อแยกการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแลและการดูแลผลประโยชน์ของรัฐในฐานะของผู้ถือหุ้นออกจากกันอย่างแท้จริงเหมือนในประเทศพัฒนาแล้ว และเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเปิดให้บุคคลที่สามใช้ระบบท่อก๊าซ ปตท.แล้ว เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้ประโยชน์จากการแข่งขันดังกล่าว เพราะก๊าซส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า จึงเห็นควรเพิ่มการแข่งขันในกิจการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้นและต้นทุนต่ำลง โดยส่งผ่านราคาค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมให้ผู้บริโภค สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ระบบผลิตไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงสู่ระบบกระจายศูนย์อย่างรวดเร็วในอนาคต และส่งเสริมการผลิตเองใช้เองของผู้บริโภค (Prosumer)

อย่างไรก็ตาม กลุ่มฯ ได้สรุปเสนอแนวทางปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนฉบับเต็มที่เตรียมยื่นเป็นจดหมายเปิดผนึกให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ 6 ประเด็น ประกอบไปด้วย 1. การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ที่ราคาพลังงานประเภทต่างๆ ควรสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง 2. เพิ่มการแข่งขันและประสิทธิภาพในธุรกิจพลังงานเพื่อมิให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค 3. ลดการแทรกแซงโดยมิชอบและแสวงหาประโยชน์ในกิจการพลังงานที่รัฐถือหุ้น และการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

4. กระบวนการในการกำหนดนโยบาย 5. การสำรวจ พัฒนาและจัดหาแหล่งพลังงาน และ 6. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด ทั้งนี้กระทรวงพลังงานควรเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลก และแก้ข้อสงสัยเรื่องการเอื้อประโยชน์เอกชนซึ่งบั่นทอนธรรมาภิบาลภาครัฐให้เป็นวาระเร่งด่วน