รพ.สธ.เริ่มทยอยเปิดให้บริการกัญชาทางการแพทย์ส.ค.นี้
รพ.สธ.เริ่มทยอยเปิดให้บริการกัญชาทางการแพทย์ส.ค.นี้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้รักษาฟรี วางเป้าเบื้องต้นครอบคลุมทุกเขตบริการสุขภาพ มีรพศ.เป็นแม่ข่าย ขณะที่ “อภัยภูเบศร”พร้อมกระจายน้ำมันกัญชา ล็อตแรก 8-9 พันขวด ส.ค.นี้
วันนี้(24 ก.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ว่า เป็นการหารือเพื่อให้คนป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการใช้กัญชาในการรักษาโรค โดยภายในเดือนส.ค.2562 โรงพยาบาลสังกัดสธ.ที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพทางการแพทย์ทั้งการดูแลผู้ป่วยได้ครอบคลุมทุกกลุ่มโรค ดูแลได้หลายมิติ และสามารถดูแลผลแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน จะดำเนินการเปิดให้บริการก่อน ซึ่งเบื้องต้นจะให้มีครอบคลุมในทุกเขตบริการสุขภาพทั่วประเทศ
ปลัดสธ. กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีรพ.ที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นรพ.ที่สามารถสั่งจ่ายกัญชาทางการแพทย์ได้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ราว 100 แห่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดจะได้รับการอนุญาตให้เปิดบริการจะต้องพิจารณาความเหมาะสมและศักยภาพเป็นสำคัญ โดยอาจเป็นรูปแบบแต่ละเขตพื้นที่จะมีโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)ที่เหมาะสมเป็นแม่ข่ายการให้บริการเพียงแห่งเดียวก่อน และมีรพ.สังกัดกรมการแพทย์และกรมสุขภาพจิตเป็นพี่เลี้ยง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพและความปลอดภัย ส่วนจะเป็นตั้งเป็นคลินิกเฉพาะทางกัญชาทางการแพทย์หรือไม่ ขณะนี้นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดสธ.กำลังพิจารณาถึงความเหมาะสม แต่อาจจะไม่ใช่คลินิกตรวจโรคธรรมดาทั่วไป เพราะต้องดูทุกมิติ
“ส่วนผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาที่จะนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์นั้นมีหลายรูปแบบทั้งแบบที่เป็นมาตรฐานทางการแพทย์หรือเมดิคัลเกรด และการใช้แบบแพทย์พื้นบ้าน แต่เป้าหมายเดียวกันคือให้คนขึ้นได้ใช้ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐาน คุณภาพและปลอดภัย โดยขณะนี้มีผลิตอยู่คือองค์การเภสัชกรรม(อภ.) รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นต้น ที่จะออกมารองรับการให้บริการประชาชนที่จำเป็นต้องใช้ ใสนส่วนของค่ารักษาพยาบาล แม้การใช้กัญชาทางการแพทย์ยังไม่ได้บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่หากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ ก็ถือเป็นการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ เหมือนกรณีอื่นที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยานั้นๆ ซึ่งจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย”นพ.สุขุมกล่าว
ด้านภก.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า จากที่รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้รับกัญชาของกลางจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) 2 รอบรวมราว 660 กิโลกรัม นำมาสกัดเป็นน้ำมันกัญชาสูตรสารทีเอชซี (THC) โดยแบ่งเป็นรอบการกระจาย คือ 23ส.ค. 2562 จำนวน 8,000-9,000 ขวด 20 ก.ย.2562 จำนวน 14,000 -15,000 ขวด และต.ค.2562 จำนวน 30,000-32,000 ขวด ซึ่งจะใช้ในผู้ป่วยมะเร็งระยะประคับประคอง ระบบประสาท คลื่นไส้ อาเจียนและอาการปวดเรื้อรัง ส่วนน้ำมันกัญชาสูตรสารซีบีดี (CBD) เด่นจะได้จากที่รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรปลูกเอง 150 ต้น ในอีก 5-6 เดือนข้างหน้า โดยในเดือนก.พ.2563 จะได้ราว 4,200 ขวด จะใช้ในผู้ป่วยพาร์กินสัน เป็นต้น จากนั้นก็จะปลูกต่อเนื่องและมีผลิตภัณฑ์ทยอยออกมา
ภก.สุภาภรณ์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้กัญชาถูกทำให้เป็นว่าดีในการทุกโรค ซึ่งดีหรือไม่ไม่รู้และเป็นสิ่งที่รอได้ เพราะบางโรคเป็นโรคที่มียาอื่นที่เป็นมาตรฐานในการรักษาอยู่แล้วสามารถใช้รักษาได้ เพราะฉะนั้น การจะใช้เริ่มใช้ในทางการแพทย์ควรจะเริ่มจากกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้จริงๆก่อน คือ ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยายาแผนปัจจุบันที่มีการใช้เป็นมาตรฐานการรักษา หากมีเพียงพอจึงค่อยขยายไปสู่กลุ่มที่อาจจะได้ประโยชน์และน่าจะได้ประโยชน์ต่อไป เพราะกลุ่มนี้อย่างไรเสียก็มียารักษาที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ที่น่าห่วงคือผู้ป่วยมุ่งจะใช้ในการรักษาโรคเรื้อรัง ซึ่งไม่ใช่จะใช้ได้ทั้งหมด เช่น เบาหวาน แต่หากใช้กัญชาก็อาจจะทำให้เกิดโรคไตตามมาและต้องตัดขา นอกจากนี้ กัญชาทำให้เส้นเลือดขยาย ผลกระทบแม้จะได้โด๊สต่ำสุด ก็ทำให้ความดันตก ใจสั่น ผู้ป่วยโรคหัวใจเองก็ต้องระวังในการใช้
“สำหรับการใช้ในระดับพื้นบ้าน เดิมทีคนไทยจะคุ้นชินการใช้กัญชาในลักษณะต้มกิน หรือเป็นผง แต่การใช้ในรูปแบบน้ำมันกัญชาถือเป็นของใหม่ เพราะฉะนั้น ประชาชนต้องมีความรู้ในเรื่องของขอบเขตการใช้ คนจะใช้ต้องมีความรู้ เช่น ใบใช้ได้หรือไม่ และมีสารเท่าไหร่ อย่างไร ซึ่งในต่างประเทศหากจะให้ประชาชนใช้ จะมีการสนับสนุนชุดทดสอบอย่างง่าย หรือTest Kit เพื่อให้ประชาชนใช้ในการทดสอบว่ากัญชาที่ปลูกนั้นมีสารสำคัญเท่าไหร่”ภญ.สุภาภรณ์กล่าว
นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวว่า ภายในวันที่ 7 ส.ค.2562 จะได้อภ.จะสามารถผลิตน้ำมันกัญชาออกมาได้ โดยสูตรที่มีสารทีเอชซีสูงจะได้ประมาณ 1 หมื่นขวด สูตรทีเอชซีต่อซีบีดีสัดส่วน 1 ต่อ 1 ประมาณ 3,000-3,500 ขวด และสูตรซีบีดีสูงประมาณ 500 ขวด ส่วนเรื่องการกระจายน้ำมันกัญชานั้น ส่วนหนึ่งให้กับกรมการแพทย์เพื่อดำเนินการตามโครงการศึกษาวิจัยที่มีข้อตกลงร่วมกัน อีกส่วนจะให้อย.ดำเนินการพิจารณาให้กับผู้ป่วยที่ได้ยื่นขอนิรโทษกรรมการครอบครองไว้ ซึ่งจำเป็นจะต้องหารือกับอย.เพิ่มเติมอีกครั้ง
“ส่วนกรณีปลดล็อกการนำเข้าเมล็ด เรื่องนี้มองว่าต้องดูให้ละเอียดเพราะถ้าเป็นสายพันธุ์ที่มีซีบีดีสูงจะไม่มีปัญหามากนัก แต่ถ้าสายพันธุ์ที่มีทีเอชซีสูงจะต้องพิจารณาถี่ถ้วน จึงต้องแยกกัน จะปลดล็อกเหมารวมอาจไม่ได้” นพ.โสภณกล่าว