งานเข้า 'การบินไทย' กระหึ่มโซเชียล สจ๊วตลักลอบขนบุหรี่ไฟฟ้าล็อตใหญ่
"การบินไทย" งานเข้า พิษสจ๊วตลักลอบขนบุหรี่ไฟฟ้าล็อตใหญ่ วิจารณ์ว่อนกระหึ่มโซเชียล
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องอื้อฉาวอย่างกว้างขวางในหมู่พนักงานต้อนรับสายการบินไทย เนื่องจากในโลกโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในกรุ๊ปไลน์ของพนักงานได้มีการพูดถึงกรณีที่มีสจ๊วตของการบินไทยรายหนึ่ง ลักลอบขนบุหรี่ไฟฟ้าและตัวบุหรี่ จำนวนอย่างละ 100 ชิ้น จากเมืองนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น มากับเที่ยวบิน ทีจี 677
โดยต้นเรื่องมาจากมีผู้โดยสารภาคพื้นดินที่อยู่ในอาคารสนามบินนาริตะ สังเกตเห็นสจ๊วตคนดังกล่าวขนบุหรี่ไฟฟ้าลอตใหญ่เข้าไปในเครื่องบิน เที่ยวบิน ทีจี 677 ที่จะเดินทางมายังประเทศไทย ในวันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา จากนั้นจึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรของญี่ปุ่นให้ทราบเรื่อง โดยที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรของญี่ปุ่นได้ประสานมายังเจ้าหน้าที่ศุลกากรของไทยในเวลาเดียวกัน เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าที่สจ๊วตกำลังขนเข้าประเทศถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ที่ลูกเรือไม่สามารถซื้อบุหรี่หรือไส้บุหรี่ไฟฟ้าได้เป็นจำนวนมากขนาดนี้
สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา ของบรรดาพนักงานงานสายการบินนั้น พยายามเรียกร้องความเป็นธรรม นำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย ไม่ปล่อยให้ลอยนวล และไม่ผลักภาระความรับผิดชอบไปให้คนอื่น ตลอดจนต้องการรักษาภาพลักษณ์ขององค์กร
ขณะเดียวกัน ยังมีสจ๊วตนายหนึ่งได้โพสต์ถึงเรื่องนี้ด้วยในเฟซบุ๊กส่วนตัวพร้อมกับแท็กไปถึงเฟซบุ๊ก “TG info by TG crew” ว่า จากเคส case บุหรี่ไฟฟ้าเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ห้ามให้คนขับรถยกกระเป๋าให้ลูกเรือทุกกรณี สัมภาระทุกชิ้นของลูกเรือจะต้องดูแลเองตาม PSM ก่อนจะมีคนเข้ามาคอมเมนต์ จากนั้นไม่นานโพสต์นี้ก็ถูกลบทิ้งไป แต่ยังมีโพสต์อื่นๆ ที่กล่าวถึงเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้าเชิงตั้งคำถามว่า เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในไทย รวมทั้งความแตกต่างระหว่างสินค้าหนีภาษี กับสินค้าที่ผิดกฎหมาย
สำหรับกรณีดังกล่าวทางทีมข่าวได้พยายามสอบถามกับศุลกากรเพื่อให้อธิบายเรื่องที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งขั้นตอนเอาผิดตามกฎหมายว่ามีการดำเนินคดีแบบไหนอย่างไร หรือทำการเปรียบเทียบปรับไปแล้วหรือยัง แต่ยังไม่สามารถติดต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาตอบคำถาม หรืออธิบายเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างไร เช่นเดียวกับบรรดาพนักงานการบินไทยก็อยากจะทราบเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครองเป็นความผิดตามกฎหมาย เพราะว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นของที่ต้องห้ามนำเข้า หากผู้ใดรับไว้โดยประการใดซึ่งของที่ต้องห้ามนำเข้า มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยอำนาจจับนั้น ตำรวจสามารถจับได้ แต่หากเป็นเจ้าหน้าที่จับ ก็ต้องส่งไปที่สถานีตำรวจ ตามมาตรา 20 แห่ง พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 20 ที่ระบุว่า ถ้าพบผู้ใดกำลังทำความผิดหรือพยายามกระทำความผิด หรือใช้ หรือช่วย หรือยุยงให้ผู้อื่นกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่อาจจับผู้นั้นได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ แล้วนำส่งยังสถานีตำรวจพร้อมด้วยของกลางที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือพยายามกระทำความผิด เพื่อจัดการตามกฎหมาย และถ้ามีเหตุอันสมควรสงสัยว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดพระราชบัญญัตินี้ก็ดี หรือมีสิ่งของไปกับตัวอันจะเป็นของที่เกี่ยวกับการกระทำผิดมาแล้ว หรืออาจได้กระทำผิดขึ้นก็ดี พนักงานเจ้าหน้าที่อาจจับผู้นั้นส่งไปจัดการโดยทำนองเดียวกัน
ส่วน มาตรา 27 ทวิ ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจําหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจํานํา หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีหรือของต้องจํากัด หรือของต้องห้าม หรือที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องก็ดีหรือเป็นของที่นําเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อจํากัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวแก่ของนั้นก็ดีมีความผิดต้องระวาง โทษจําคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจําทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม ยังมีประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง สินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 ข้อ 3 ให้สินค้าตามบัญชีท้ายประกาศนี้เป็นสินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ข้อ 4 ให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร
ทั้งนี้ จับตา "การบินไทย" จะมีการแถลงชี้แจงหรือไม่