อธิบดีกรมชลฯ ยันอีก 40 วันน้ำไม่หมดเขื่อน

อธิบดีกรมชลฯ ยันอีก 40 วันน้ำไม่หมดเขื่อน

อธิบดีกรมชลฯยันอีก 40 วันน้ำไม่หมดเขื่อน ชี้ปี 58 น้ำน้อยแล้งวิกฤติมากกว่าปีนี้ ยังบริหารน้ำผ่านมาได้ วอนปชช.ใช้น้ำอย่างประหยัด

 นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลัก ลุ่มเจ้าพระยามีน้ำน้อย เช่น เขื่อนภูมิพล 682 ล้านลบ.ม.หรือ 4% เขื่อนสิริกิติ์ 391 ล้านลบ.ม.หรือ 4% เขื่อนแควน้อย 80 ล้านลบ.ม.8% เขื่อนป่าสัก 35 ล้านลบ.ม.4% รวมน้ำใช้การได้1.18พันล้านลบ.ม.ระบายออกรวม 42.60 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ปริมาณน้ำไหลเข้า 4 เขื่อน รวม 4.35 ล้านลบ.ม.ต่อวัน

จึงสั่งการให้ทุกโครงการชลประทานบริหารตามแนวทางของกรมที่วางแผนไว้อย่างเคร่งครัด โดยประสานกลุ่มผู้ใช้น้ำและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้การใช้น้ำเกิดประสิทธิภาพและประหยัดน้ำสำหรับประโยชน์ของภาคส่วน ได้วางแนวทางปฏิบัติไว้ดังนี้

1.ให้ทุกโครงการชลประทานประสานกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ปฏิบัติตามแผนส่งน้ำแต่ละรอบเวรอย่างเคร่งครัด เพื่อให้น้ำไปทั่วถึงเกษตรกรและผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะรักษาพื้นที่เพาะปลูกคือนาข้าวที่ปลูกแล้วประมาณ 6.21 ล้านไร่ 2.กำชับให้สถานีสูบน้ำของ อปท.ทั้ง 339 แห่ง สูบน้ำตามรอบเวร ที่กรมชลประทานวางแผนไว้เพื่อป้องกันการสูบนอกแผนงาน อันจะกระทบกับพื้นที่อื่น

3.สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่เป็นพื้นที่นาดอน ให้เจ้าหน้าที่ทำความเข้าใจให้เกษตรกรชะลอการปลูกข้าวไปจนกว่าจะมีฝนปกติ เพื่อป้องกันความเสียหาย และ 4.โครงการบางระกำโมเดล ที่กรมชลประทาน ส่งเสริมให้ปลูกข้าว ช่วงเดือนเมษายน เพื่อให้เกี่ยวข้าวเสร็จก่อนน้ำหลาก ขณะนี้เก็บเกี่ยวหมดแล้ว โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน แจ้งให้เกษตรกรในพื้นที่ทราบว่า จะเริ่มงดส่งน้ำเพื่อการเกษตรตั้งแต่ 31 ก.ค. 2562 ตามที่ได้วางไว้ และประสบความสำเร็จด้วยดีเช่นปีที่ผ่านมา


อธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่า ภายใน 40 วัน น้ำไม่หมดเขื่อนและยังไม่เกิดวิกฤติขาดน้ำตามที่วิตกกังวล เพราะความจริงจะมีฝนตกและน้ำไหลเข้าเขื่อนแต่ละพื้นที่ทุกวัน เมื่อเทียบกับสถานการณ์ฝนน้อยในปี 2558 ซึ่งระบายน้ำเพียงวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการบริโภคอุปโภคเท่านั้นและงดส่งน้ำเพื่อการเกษตร แต่ในปีนี้ยังระบายน้ำได้วันละกว่า40ล้านลบ.ม. เมื่อเทียบกันแล้วสถานการณ์น้ำในปีนี้ดีกว่าปี 2558 อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ภาพรวมปีนี้ยังมีน้ำใช้การมากกว่าปี 2558 ก็ตาม แต่การประหยัดน้ำจะช่วยป้องกันวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในสภาวะอากาศผันผวน

สำหรับการปลูกพืชในเขตชลประทาน(นาปี)ปี 2562 ตามแผนกำหนดไว้ 16.21 ล้านไร่ ปัจจุบันเพาะปลูกแล้ว 11.23 ล้านไร่ (69%) ในส่วนพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาแผนการเพาะปลูกข้าวนาปี 7.65 ล้านไร่ ปลูกแล้ว 6.21 ล้านไร่ (81.14%) ของแผน ทั้งนี้ กรมยืนยันว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ในเขตชลประทานยังคงมีน้ำเพียงพอสำหรับน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศ