อนุกมธ.ปาล์ม เสนอฟื้นร่างกม.ปาล์มน้ำมัน แก้ปัญหาราคาตกต่ำ
ตัวแทนเกษตรเสนอใช้กม.ราคาสินค้า คุมราคาให้เสถียร ด้านอนุกมธ.ตั้งข้อสังเกตกฟผ.ใช้โรงไฟฟ้าบางปะกง นำปาล์มผลิตกระแสไฟฟ้าเปลืองค่าขนส่ง
ในการประชุมของคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาเรื่องปาล์มและยางพารา สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส. อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย เป็นประธานอนุกมธ.ฯ โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงและให้ความเห็นต่อการใช้ยางพาราเพื่อสร้างถนนยางพารา และ ใช้น้ำมันปาล์มเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และตัวแทนสมาพันธุ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เข้าชี้แจง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมดังกล่าว อนุ กมธ.ฯ นำเสนอให้ที่ประชุม นำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์ม น้ำมัน พ.ศ.... ฉบับที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณาในชั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้กำหนดเป็นมาตรการแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ ทั้งนี้มีอนุ กมธ.ฯ แสดงความเห็นโต้แย้ง เนื่องจากว่า ร่างพ.ร.บ. ปาล์มน้ำมัน มีเนื้อหาที่เกษตรกรไม่เห็นด้วย แม้จะผ่านการทำประชามติ ถึง 6 ครั้ง แต่ยังต้องแก้ไขเนื้อหา ขณะที่ปัญหาของเสียงในสภาฯ ที่ปริ่มน้ำ อาจจะเป็นปัญหาสำคัญของการผลักดันเนื้อหา
ทั้งนี้นายชูวิทย์ กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวต้องเตรียมผลักดัน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ ที่ดูแลกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาจเป็นผู้นำร่างกฎหมายยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตนเชื่อว่าหากร่างกฎหมายไม่ผ่าน รัฐบาลจะอยู่ไม่นาน หรือ หากอายุสั้น ร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่ผ่านเช่นกัน ดังนั้นหากอยู่ 1-2 ปี การผลักดันร่างกฎหมายจะสำเร็จแน่นอน
ขณะที่ตัวแทนของเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ให้ความเห็นถึงปัญหาและความเดือดร้อนที่ราคาผลปาล์มมีราคาผันผวนอย่างต่อเนื่อง และราคาขายต่ำกว่าทุน จึงเสนอให้บังคับใช้มาตรการใน พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 25(5) ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) อย่างไรก็ตามเข้าใจว่าเหตุที่ กกร. ไม่สามารถใช้มาตรการดังกล่าวได้ เพราะขาดข้อมูลปัจจุบัน ทำให้การกำกับและติตดามไม่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันฯ ที่เตรียมผลักดันนั้นสามารถเป็นมาตรการแก้ไขระยะยาวได้ แต่ปัญหาเฉพาะหน้าควรใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าฯจะเหมาะสมที่สุด
ส่วนตัวแทนจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวยอมรับว่า ข้อมูลและการประกาศภายใต้มาตรา 25 (5)ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าฯ เกิดขึ้นล่าสุดเดือนเมษายน 2562 และยังบังคับใช้ อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ ภายในสัปดาห์หน้า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมประกาศมาตรการประกันราคาสินค้าเกษตร คือ ปาล์ม เป็นสินค้าเกษตรตัวแรก ขณะที่ปัญหาการลักลอบนำเข้าปาล์มจากนอกราชอาณาจักรนั้น สัปดาห์หน้านายจุรินทร์ จะหารือกับฝ่ายความมั่นคงเพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าสำหรับประเด็นการใช้ปาล์มน้ำมันเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้านั้น อนุกมธ.ฯ ตั้งข้อสังเกตถึงการนำปาล์มผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ที่กำหนดปริมาณรับซื้อ 1.6 แสนตัน ราคากิโลกรัมละ 18 บาท และใช้โรงไฟฟ้าที่บางปะกง เดินเครื่องผลิตแทนใช้โรงไฟฟ้าที่จ.กระบี่ ที่อาจทำให้ต้นทุนการผลิตดังกล่าวสูงเกินจำเป็นเพราะมีค่าขนส่งระยะไกล
ทั้งนี้นางราณี โฆษิตวานิช ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารเชื้อเพลิง การไฟฟ้าผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้แจงว่า การผลิตไฟฟ้าที่ใช้ปาล์มน้ำมันผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลเพื่อช่วยเกษตรกร แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครทำ เนื่องจากต้นทุนสูงและเพิ่มภาระให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ตามจากนโยบายรัฐบาลดังกล่าวทำให้ กฟผ. ขาดทุนเดือนละ 400 ล้านบาท จากปริมาณทั้งหมด 1.6 แสนตัน แม้ล่าสุดจะปรับปริมาณเหลือ 1.3 แสนตัน ยังทำให้ กฟผ.ขาดทุนเดือนละ 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่กฟผ.ต้องแบกรับภาระ
“กระบวนการจัดซื้อผลปาล์มนั้นมีกระบวนการตรวจสอบได้ เพราะมีเอกสารหลักฐานการรับซื้อจากเกษตรกรทั่วภูมิภาค และมีเกณฑ์ราคารับซื้อตามนโยบายคือ กิโลกรัมละ 3.2 บาท ทั้งนี้การใช้โรงไฟฟ้าที่บางปะกง ไม่ถือเป็นสาระสำคัญเพราะผลปาล์มมาจากเกษตรทั่วประเทศ ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่าควรใช้ไฟฟ้าที่จ.กระบี่ นั้น เพราะโรงไฟฟ้าที่จ.กระบี่ หมดอายุการใช้งาน แต่ยังเตรียมพร้อมเพื่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าที่พื้นที่ภาคใต้ ขณะที่โรงไฟฟ้าที่บางปะกง ยอมรับว่าหมดอายุการใช้งานเช่นกัน แต่ยังเดินเครื่องได้เพื่อช่วยเกษตรกร อย่างไรก็ตามไม่อยากให้ตั้งเงื่อนไขจับผิด แต่ควรเจาะลึกข้อมูลเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา กฟผ.ไม่ต้องการให้เกษตรกรเดือดร้อน และ ไม่อยากเป็นจำเลย ดังนั้นอย่ามองกฟผ. เป็นผู้ร้าย เพราะตอนนี้ขาดทุนมากแล้ว ” นางราณี กล่าว
ทางด้านนายชูวิทย์ ให้ความเห็นว่า กฟผ. ควรฟื้นฟูโรงไฟฟ้าที่จ.กระบี่ เพื่อนำปาล์มผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อแบ่งเบาภาระของเกษตรกรที่ลำบาก เปรียบเหมือน กฟผ. คือ หน่วยงานที่ทำกำไร จึงควรช่วยเกษตรกรที่ขาดทุน.