ARINCARE สู่สเต็ปที่ 4 ภารกิจทรานส์ฟอร์ม ‘เฮลธ์แคร์’

ARINCARE สู่สเต็ปที่ 4 ภารกิจทรานส์ฟอร์ม ‘เฮลธ์แคร์’

เราต้องการทรานส์ฟอร์มเฮลธ์แคร์เมืองไทย เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ เฮลธ์แคร์ไม่สามารถดิสรัปได้แต่ต้องทรานส์ฟอร์ม

“ธีระ กนกกาญจนรัตน์” (เอ็ม) ซีอีโอ/ผู้ร่วมก่อตั้ง ARINCARE (อรินแคร์) บอกว่านี่คือเป้าหมายสูงสุดที่กำลังมุ่งไป และได้ซอยเป้าหมายทำทีละสเต็ป สำหรับสเต็ปแรกที่ได้เห็นกันแล้วก็คือ "การทรานส์ฟอร์มร้านขายยา" เพราะมองเห็นว่าร้านยาถือเป็นจุดที่สามารถเข้าถึงคนไทยเยอะที่สุดในเรื่องของเฮลธ์แคร์ ..มีใครเกิดมาไม่กินยา หรือมีใครที่เกิดมาแล้วไม่เคยเดินเข้าร้านยาบ้าง?


นอกจากนี้ยังหวังช่วยผู้ประกอบการร้านขายยาที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีข้อจำกัดมากมาย โดยมีโปรแกรมที่ช่วยบริหารจัดการสร้างยอดขาย เพิ่มกำไร หมุนเวียนสต็อค ลดต้นทุน ซึ่งให้ใช้งานง่าย และฟรี ไม่มีข้อผูกมัด ปัจจุบันอรินแคร์มีร้านยาอยู่ในเครือข่าย 2 พันกว่าร้านหรือประมาณ 10% จากจำนวนร้านยาทั้งหมดที่มีในเมืองไทย


"ในช่วงแรก ๆเราต้องอึดเหมือนการวิ่งมาราธอน เพราะเราไม่สามารถบังคับให้ร้านยาและเภสัชว่าจะต้องใช้โปรแกรมของเรานะ มันมีแต่ว่าต้องทำให้เขาเชื่อใจ เรียกว่า 50 ร้านแรกผมและทีมงานต้องไปช่วยคีย์ข้อมูลให้ร้านยาเลย คีย์ชื่อยาทีละตัว"


แต่เมื่อชักชวนร้านยาได้ก็นำมาซึ่งสเต็ปที่สองที่ว่าด้วย “บิ๊กดาต้า” ด้วยความที่โปรแกรมของอรินแคร์เก็บข้อมูลของร้านยาไว้ ซึ่งธีระบอกว่าไม่มีใครทำแบบนี้ทั้งในเมืองไทยและทั้งกลุ่มประเทศอาเซียนเลยก็ว่าได้ และเมื่อเริ่มนำดาต้าในระบบมาดู ก็จะรับรู้ได้ว่ายาตัวไหนที่ขายดีในตลาด ขายดีในพื้นที่ใดบ้าง และมันก็บ่งบอกถึงอาการป่วยของคนได้อีกด้วย เช่น ตอนที่โรคไข้เลือดออกระบาด ข้อมูลก็จะบอกได้ว่าพื้นที่ตรงไหนที่คนมาซื้อยากลุ่มที่รักษาอาการโรคดังกล่าวมากที่สุด ดูความน่าจะเป็นได้ว่าบริเวณจังหวัดใดมีแนวโน้มจะเป็นโรคระบาดอะไร


"หรือช่วงปีที่แล้วมีการต้องรีคอลยาอยู่ล็อตหนึ่งที่มีสารปนเปื้อน ซึ่งจะไม่มีปัญหากับทางโรงพยาบาลเลยเพราะข้อมูลทุกอย่างเขาเอาเข้าระบบหมด แต่ประเด็นก็คือยาดังกล่าวมันขายในร้านยาด้วย วิธีการของบริษัทยาก็คือการไล่โทรทีละร้าน จนวันหนึ่งเขาก็โทรหาเรา ให้อรินแคร์ช่วยดูให้หน่อย ซึ่งเราก็บอกเขาได้เลยว่ายาล็อตนี้ไปอยู่ที่ร้านขายยาไหนบ้าง ก็ให้รายชื่อเขาไป ผมคิดว่าบิ๊กดาต้าที่เรามีจะช่วยวงการสาธารณสุขได้เยอะมาก และกลายเป็นการเปิดอีกมิติหนึ่งของเฮลธ์แคร์เลย"


ส่วนสเต็ปที่สามเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องที่เปลี่ยนวงการอีกเช่นกัน นั่นคืออริแคร์ช่วยเชื่อมต่อร้านยากับโรงพยาบาลโดยการ “ส่งต่อคนไข้” ซึ่งในอดีตเมื่อเภสัชกรประจำร้านยาถ้าเห็นว่าคนป่วยรายมีอาการหนักควรเข้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาลก็จะใบส่งตัว ซึ่งจะเขียนอาการเจ็บป่วย ได้กินยาอะไรไปแล้วบ้างเพื่อให้คนไข้ถือไปให้หมอที่โรงพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่มันก็จะหายไปไม่เคยถึง ทำให้หมอต้องเริ่มซักอาการใหม่ทั้งหมด ว่าเคยทานยาอะไรมาแล้ว แน่นอนมีคนป่วยน้อยรายที่จะจำได้


"สิ่งที่เราทำคือจับมือกับโรงพยาบาลในเครือสมิติเวช ถ้าร้านยาถ้าเห็นว่าคนไข้ไม่ไหวแล้ว เขาก็กรอกข้อมูลทั้งหมดลงในระบบและคลิกส่งให้กับทางโรงพยาบาลเลย คนไข้ไปตัวเปล่าพอถึงโรงพยาบาลหมอก็เรียกข้อมูลในระบบออกมามาดูได้เลย สิ่งที่มาปลดล็อกก็คือเทคโนโลยี ซึ่งในอนาคตเราจะเห็นอะไรใหม่ๆเกิดขึ้นอีกมาก เพราะพอเกิดเรื่องนี้ปุ๊บประกันชีวิตประกันสุขภาพก็เริ่มโทรหาเรา ทางโรงพยาบาลรัฐก็เริ่มถามว่าขอแบบนี้บ้างได้ไหม เพราะได้เห็นประโยชน์ว่ามันน่าช่วยให้หมอกับพยาบาลทำงานง่ายขึ้น"


และสเต็ปที่สี่กำลังจะเกิดขึ้นในงาน “ไทยแลนด์ฟาร์มาซี ซัมมิท” ซึ่งเป็นอีเวนท์ใหญ่ที่อรินแคร์จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปีซึ่งในปีนี้เป็นปีที่สามแล้ว ธีระเผยว่าภายในงานนี้จะมีการประกาศโครงการใหม่ขึ้นมา เชื่อว่ามันจะเป็นการเปลี่ยนวิถีการกินยาของคนไทยทุกคนไปตลอดกาล กระซิบให้ว่าคีย์เวิร์ดก็คือ “ลดความเหลื่อมล้ำ” 


ถามถึงโมเดลบิสิเนส ธีระบอกว่าได้ตั้งใจตั้งแต่วันแรกว่าอรินแคร์จะเข้าไปช่วยร้านยาทุกอย่างจึงต้องฟรี แต่รายได้จะมาจากฝั่งของบริษัทยา จากการทำหน้าที่เป็น “มาร์เก็ตเพลส” ซึ่งเพิ่งเริ่มในปีนี้เนื่องจากปริมาณร้านยามีจำนวนมากในระดับที่มีแวลลูพอที่จะทำให้บริษัทยาสนใจมาทำการตลาดและการขาย เวลานี้บริษัทยาที่เป็นพาร์ทเนอร์กับอรินแคร์มีประมาณเกือบๆ 20 บริษัท มีทั้งบริษัทไทยและต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทยาไทยเนื่องจากตัดสินใจได้ค่อนข้างเร็ว


"เพนพ้อยท์ของบริษัทยาก็คือ เขาไม่สามารถโฆษณาได้ตามกฏหมายอย. ยิ่งยาอันตรายเช่นอะม็อกซีก็ยิ่งไม่ปรากฏตามสื่อต่างๆได้เลย เพราะโฆษณาไม่ได้ ทำได้แค่กลุ่มยาสามัญประจำบ้าน แต่ด้วยความระบบของอรินแคร์มีแต่ร้านยาที่มีใบอนุญาติจึงเป็นรูปแบบบีทูบีไม่ผิดกฏหมาย บริษัทยาก็ลอดต้นทุนต่างๆได้ด้วย เพราะจากที่เคยต้องทำแอดปรินท์ ต้องมีเซลล์ฟอร์ซคอยไล่โทรหาลูกค้า แต่แพลตฟอร์มเราทำให้บริษัทยาสามารถเห็นสต็อกยาในร้านยาถ้าหมดก็กดสั่งได้เลย "


ต่อไปบริษัทยาไม่ต้องจ้างเซลล์? เขาบอกว่ามีคนถามคำถามนี้ค่อนข้างเยอะ แม้กระทั่งคนที่เป็นเซลล์เองก็ถามว่าจะตกงานหรือไม่ แต่ธีระมองว่าอรินแคร์จะเข้าไปช่วยเพิ่มโอกาสในการขายให้กับเซลล์มากกว่า ที่ผ่านมากลไกในการรับออเดอร์ของบริษัทยาคือการให้เซลล์ไปรับออเดอร์จากทางร้าน แต่เมื่อทุกอย่างเข้าระบบสต็อกใกล้หมดมันก็จะเตือนโดยอัตโนมัติ เดิมทีเป็นคนคอยรับออเดอร์แต่จากนี้เซลล์จะต้องทำซีอาร์เอ็มกระชับความสัมพันธ์กับลูกค้าให้แน่นแฟ้นยิ่ง ๆขึ้น

ต้องบอกว่าเส้นทางสู่วงการ Health Tech ของธีระถือว่าเป็นเรื่องบังเอิญ เขาเรียนจบวิศวะคอมพิวเตอร์ แต่บริษัทแรกที่ได้ไปฝึกงานทำด้านซอฟท์แวร์เกี่ยวกับการแพทย์พอดี ก็เลยรับรู้ว่าเทคโนโลยีสำคัญต่อชีวิตผู้คน แต่แรงบันดาลใจที่แท้จริงที่นำมาสู่การก่อตั้งอรินแคร์กลับเป็น "ไผท ผดุงถิ่น" สตาร์ทอัพรุ่นพี่ที่เวลานี้เป็นเมนเทอร์ให้กับทีมของเขาอีกด้วย (อรินแคร์เป็นหนึ่งในทีมที่ได้เข้าร่วมโครงการดีแทค แอคเซอเลอเรทปีที่ 7 )


"หลายปีก่อนผมเคยฟังพี่โบ๊ทพูดในงานๆหนึ่ง ตอนนั้นบิลค์ยังไม่ใหญ่โตเท่าเวลานี้ ซึ่งผมมองว่าคน ๆนี้ช่วยเหลือคนอื่นจริงๆเพราะเข้าไปช่วยผู้รับเหมาทั่วประเทศ ตอนนั้นผมยกมือถามว่าทำไมพี่ไม่ทำงานกับคอปอเรทเพราะน่าจะได้เงินง่ายกว่า เขาตอบมาว่าถ้าทำงานกับคอปอเรท เมืองไทยก็ไม่พัฒนาน่ะสิ แล้วใครจะช่วยผู้รับเหมาต่างจังหวัด ช่วยเอสเอ็มอีท้องถิ่น ประโยคนี้มันอินสไปร์ผมมาก"