เปิดรายชื่อรพ.รัฐ 12 แห่งสั่งจ่ายน้ำมันกัญชาล็อตแรก
สธ.รับมอบ “น้ำมันกัญชา สูตรทีเอชซีสูง”จากอภ.ล็อตแรก 4,500 ขวด เริ่มให้บริการกัญชาทางการในรพ.ศูนย์ 12 แห่งกระจายทั่วประเทศ รักษาฟรี เน้นผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายก่อน ย้ำไม่ใช่รักษามะเร็งรักษาอาการข้างเคียงเท่านั้น
วันนี้(7ส.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงสธ. ร่วมแถลงข่าว “การรับมอบสารสกัดน้ำมันกัญชามาตรฐานทางการแพทย์ ล็อตแรก สู่ระบบบริการกัญชาทางการแพพทย์ในสถานพยาบาลและโครงการวิจัย” โดยอนุทิน กล่าวว่า สธ.ได้รับมอบสารสกัดน้ำมันกัญชามาตรฐานทางการแพทย์ล็อตแรกจากองค์การเภสัชกรรม(อภ.)แบบหยดใต้ดิน ชนิดทีเอชซีสูงขนาด 5 มิลลิลิตร จำนวน 4,500 ขวด ซึ่งจะทยอยส่งให้กับโรงพยาบาลศูนย์ทุกเขตสุขภาพ เขตละ 1 แห่ง รวม 12 แห่ง และผู้ป่วยในโครงการวิจัย 2 ประเภท
ได้แก่ การศึกษาวิจัย และการรักษากรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย เพื่อให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานแล้วไม่ได้ผล เข้าถึงการรักษาด้วยสารสกัดน้ำมันกัญชา ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากและที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล และใช้ในการควบคุมอาการโรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทอักเสบ ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เป็นต้น รวมทั้งการศึกษาวิจัยการรักษาโรคมะเร็ง และจะได้รับเพิ่มอีก 2,000 ขวด เป็นชนิด CBD สูง ขนาด 10 ml จำนวน 500 ขวด และชนิด THC : CBD (1:1) ขนาด 5 ml จำนวน 1,500 ขวด รวมเป็นทั้งสิ้น 6,500 ขวดภายในเดือนสิงหาคมนี้
“ที่เดิมเคยบอกว่าให้อภ.ผลิตสารสกัดน้ำมันกัญชาออกมาให้ได้ 1 ล้านขวด ขวดละ 5 ซีซี ภายใน 5-6 เดือนนั้น เมื่อคิดแล้วก็แค่ราว 5 ล้านซีซี ก็คิดเป็นแค่ 5 พันลิตร ก็จะรักษาผู้ป่วยได้ไม่มาก เพราะฉะนั้นก็ควรเพิ่มเป็น 10 ล้านขวด ซึ่งยิ่งผลิตมากต้นทุนการทำก็จะถูกลง ส่วนการรักษาในคนไข้ถ้าได้ผล ก็จะมีการผลักดันบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ และเป็นสิทธิประโยชน์ในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป โดยการที่อภ.สามารถผลิตสารสกัดน้ำมันกัญชาได้เอง มีราคาข้างขวดที่ 500 บาท ก็ช่วยลดราคาจากที่มีการจำหน่ายแบบใต้ลิ้นขวดละ 1,000 บาทได้แล้ว” นายอนุทินกล่าว
ด้านนพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดสธ. กล่าวว่า สารสกัดน้ำมันกัญชาชนิดทีเอชซีสูง ที่สธ.ได้รับจากอภ.ล็อตแรก 4,500 ขวด จะแบ่งเป็นให้กรมการแพทย์ใช้ในการวิจัย 600 ขวด อีก 3,900 ขวดจะกระจายไปให้โรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) 12 แห่ง เขตสุขภาพละ 1 แห่ง ได้แก่ รพ.ลำปาง รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ รพ.สระบุรี รพ.ราชบุรี รพ.ระยอง รพ.ขอนแก่น รพ.อุดรธานี รพ.บุรีรัมย์ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี รพ.สุราษฎร์ธานี และรพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยผู้ป่วยสามารถเข้าไปรับบริการได้ทันที และในเดือนกันยายน 2562 จะได้เริ่มกระจายน้ำมันกัญชาสูตรตำรับแพทย์แผนไทย ผ่านสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านการแพทย์แผนไทย 7 แห่ง ครอบคลุมทุกภาค ได้แก่ ภาคเหนือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช(รพร.) เด่นชัย จ.แพร่ และรพ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ภาคกลางระ.ดอนตูม จ.นครปฐม และรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโรค จ.สกลนคร และรพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ภาคใต้รพ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี
“ในการสั่งจ่ายน้ำมันกัญชาทางการแพทย์ จะเป็นไปตามการวินิจฉัยของแพทย์เท่านั้น และเป็นไปตามข้อบ่งชี้ โดยกลุ่มผู้ป่วยที่จะได้รับการสั่งจ่าย คือ ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยระยะประคับประคอง ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งจะเป็นคนไข้ที่มีการขึ้นทะเบียนไว้แล้ว แต่คนไข้ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนแล้วเดินเข้าไปขอรับบริการที่รพ. ก็จะต้องผ่านจุดคัดกรองก่อนว่ามีอาการหรือโรคที่เป็นตรงกับข้อบ่งชี้หรือไม่ ส่วนคนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีความจำเป็นต้องใช้ ก็จะได้รับการบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในทุกสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐ”นพ.สุขุมกล่าว
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์มีความชัดเจนว่าแพทย์จะพิจารณาใน 3 กลุ่มโรค ได้แก่ 1.โรคที่ได้ประโยชน์ซึ่งมีงานวิจัยรองรับชัดเจน มี 4 โรค คือ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โรคลชักที่รักษายาดและโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และภาวะปวดประสาทส่วนกลางที่ใช้วิธีการรักษาอื่นๆแล้วไม่ได้ผล 2.โรคที่น่าจะได้ประโยชน์มีงานวิจัยรองรับระดับหนึ่งแต่จะต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม มี 6 โรคและอื่นๆ เช่น พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ วิตกกังวล โรคปลอกประสาทอักเสบอื่นๆ ผู้ป่วยที่ต้องดูแลแบบประคับประคอง ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย และ 3.โรคที่อาจจะได้ประโยชน์ จะต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมอีกมาก เช่น มะเร็ง ขณะที่สารสกัดน้ำมันกัญชา สูตรที่มีทีเอชซีสูง จะใช้ในการรักษาผู้ป่วยจมะเร็งระยะสุดท้าย โดยไม่ได้เป็นการรักษามะเร็ง แต่เป็นการรักษาอาการข้างเคียงจากโรคมะเร็ง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ หรืออาการปวดมากจนนอนไม่หลับ
“ส่วนกรณีที่คนไข้มาขอรับบริการแต่ไม่ตรงกับ 3 กลุ่มโรคดังกล่าว ในการอบรมแพทย์และเภสัชกรที่จะเป็นผู้สั่งใช้และจ่ายที่ดำเนินการโดยกรม ได้มีการวางระบบตรงนี้ โดยให้แพทย์พยายามเชื่อมโยงการดูแลเข้ากับวิชาชีพ โดยกรณีที่คนไข้ส่วนหนึ่งที่ใช้ด้วยตนเองมาก่อนอยู่แล้ว แต่อาจจะเป็นโรคที่ไม่ได้เป็นไปตามตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ก็ให้แพทย์คุยกับคนไข้ว่าสิ่งที่ใช้อยู่ไม่แนะนำในทางการแพทย์ แต่ถ้าผู้ป่วยประสงค์จะใช้ต่อก็ให้ใช้ต่อไป รพ.ก็จะมีระบบติดตามอาการของคนไข้จากการใช้สารสกัดน้ำมันกัญชาให้กับคนไข้ อยากให้มีการสื่อสารตรงนี้ให้ชัด เพื่อที่คนไข้จะได้เข้าใจการทำงานในการวินิจฉัยของแพทย์ด้วยเมื่อไปรับบริการ และจะทำให้ภาครัฐมีการเก็บข้อมูลจากการใช้ด้วยตนเองของคนไข้ด้วย ว่าใช้สารสำคัญใด และส่งผลต่อโรคอย่างไร ถ้าทำได้เชื่อว่าประเทศไทยจะมีฐานข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่จะรู้ได้ว่ารสารอออกฤทธิ์ได้ ส่งผลต่อโรคไหนได้ดี”นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม(บอร์ดอภ.) กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม(อภ.) ผลิตสารสกัดน้ำมันกัญชาจากการปลูกรุ่นแรก รวม 6,000 ขวด แยกเป็น 3 สูตร ได้แก่ สูตรทีเอชซีสูง 4,5000 ขวด สูตรซีบีดีสูง 500 ขวด และสูตรซีบีดีต่อทีเอชซี 1 ต่อ 1 จำนวน 1,500 ขวด โดยในการส่งมอบให้สธ.ล็อตแรกเป็นสูตรทีเอชซีสูง 4,500 ขวด ซึ่งในการผลิตของอภ.จะเน้นเพื่อประโยชน์สูงสุดกับประชาชน โดยึดหลักกการประสิทธิผล ซึ่งแต่สูตรจะใช้ในการรักษาโรคที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ความปลอดภัย จะต้องปลอดจากยาฆ่าแมลง โลหะหนัก ปราศจากเชื้อราและแบคทีเรีย และความคงตัว แต่ละขวดจะต้องมีปริมาณสารสำคัญคงตัว ไม่ใช้ใช้ขวดแรกได้ผลแต่ใช้ขวดต่อไปไม่ได้ผล ไม่อยากให้เกิดเช่นนั้น ทั้งนี้ หลังจากนี้อภ.จะดำเนินการปลูกและผลิตตามความต้องการของแพทย์ ว่าใช้สูตรไหนจำนวนมาก ซึ่งใน 1 รอบการปลูกและผลิตใช้เวลา 4-5 เดือน ผลิตได้ราว 10,000 ขวด