'ไทยพาณิชย์' คาดกนง.ลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งปีนี้

'ไทยพาณิชย์' คาดกนง.ลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งปีนี้

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจไทยพาณิชย์ คาด กนง.ลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อลดความเสี่ยงผลกระทบสงครามการค้า

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจลดดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 1 ครั้ง (25 bps) ในปีนี้ โดยมีเหตุผลจาก 3 ปัจจัย คือ

1.ความเสี่ยงและผลกระทบของสงครามการค้ามีเพิ่มสูงขึ้น หลังสหรัฐฯ ประกาศเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่ารวม 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่ 10% ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ โดยจีนได้ออกมาตรการตอบโต้ด้วยการห้ามไม่ให้รัฐวิสาหกิจและสถาบันของรัฐนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ อีกทั้ง ล่าสุดกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าจีนเป็นประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน (currency manipulator) แม้จีนจะยังไม่เข้าทั้ง 3 เกณฑ์ ทำให้ภาวะความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุนยิ่งซบเซาลง โดยอีไอซีประเมินว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคการส่งออก ท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชนมีสูงขึ้น นอกจากนี้ความเสี่ยงของสงครามการค้าที่สูงขึ้นน่าจะทำให้ธนาคารกลางของทั้งกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้แรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาทยังมีอยู่ต่อไป

2_76

2.แรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐอาจไม่มากและเร็วพอที่จะชดเชยผลกระทบจากสงครามการค้า จากการรายงานของสื่อในประเทศ อีไอซีคาดว่ารัฐบาลน่าจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ด้วยงบประมาณที่จำกัด (ประมาณ 8 หมื่นล้านบาทจากการประเมินของอีไอซี) บวกกับการเบิกจ่ายที่อาจล่าช้ากว่าคาด แรงกระตุ้นจากภาครัฐอาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบจากสงครามการค้าต่อภาคการส่งออก ท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชน

3.ภาวะการเงินไทยอาจยังไม่ผ่อนคลายเพียงพอ อีไอซีมองว่า แม้จะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาวจะมีการปรับลดลงค่อนข้างมาก แต่ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง สะท้อนจากดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ที่ปรับแข็งค่าขึ้นมาถึง 5.5% ในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกไทย อีกทั้งมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV measure) ที่ประกาศใช้ไปแล้วยังทำให้การขยายตัวของสินเชื่อชะลอลง การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมจึงอาจมีความจำเป็น

ทั้งนี้ กนง.มีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 1.5% จากการส่งออกที่หดตัว อุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลงทุกภาคส่วน และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ในการประชุมเมื่อวานนี้ (7 ส.ค.62) โดยมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.75% เป็น 1.50% ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญ คือ

1.กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และ "ต่ำกว่าระดับศักยภาพ" ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกที่ "หดตัว" มากกว่าที่ ธปท. ประเมินไว้เดิม ตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรง และภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง สำหรับอุปสงค์ภายในประเทศ กนง. ประเมินว่า มีแนวโน้มชะลอลงทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้และการจ้างงานที่ลดลง อีกทั้งการใช้จ่ายภาครัฐยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ นอกจากนี้ อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ กนง. ต้องปรับลดดอกเบี้ย คือ ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีที่มีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงเร็ว

2.กนง.ยังแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก และยังให้ติดตามความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ประเมินว่าภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย แต่แสดงความกังวลต่อสถาณการณ์ค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจกระทบต่อเศรษฐกิจในสภาวะที่การกีดกันการค้ารุนแรงขึ้น รวมไปถึงยังกล่าวว่า "อาจดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น" ส่วนในด้านเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ยังคงติดตามเรื่องการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน การขยายสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ และการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการสื่อสารในครั้งนี้สะท้อนได้ว่า กนง.น่าจะใช้มาตรการ macro และ micro prudential เป็นหลักในการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน โดย กนง.มองว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องติดตามการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน โดยในระยะถัดไป มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน และ ดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน จะมีบทบาทมากขึ้น โดยอีไอซีมองว่า ในระยะต่อไปภาระของอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินจะลดน้อยลง และ กนง.น่าจะหันมาให้ความสำคัญต่อการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น

ล่าสุด ธปท.เตรียมออกมาตรการดูแลภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ผ่านแนวนโยบายการให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสม เมื่อวันที่ 3ส.ค.62 ธปท.ได้เผยแพร่เอกสารเพื่อขอความคิดเห็นต่อเรื่อง "แนวนโยบายการให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสม เพื่อดูแลปัญหาหนี้เกินตัวของภาคครัวเรือน" โดยมีเนื้อหาสรุปได้ คือ 1) สถาบันการเงิน (สง.) ควรปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรให้ตระหนักถึงหลักการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ โดยกาหนดนโยบายและความคาดหวังที่ชัดเจน 2) สง. ควรออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้เหมาะสมกับความต้องการ ความจำเป็น และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า

3) สง. ควรให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางการเงินแก่ลูกค้าอย่างครบถ้วนและชัดเจน รวมถึงไม่เสนอขายผลิตภัณฑ์พ่วงที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการ 4) ในการอนุมัติสินเชื่อ สง. ต้องพิจารณาให้ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมดเทียบกับรายได้ที่มีความสม่ำเสมอ (DSR) โดยลูกค้าต้องมีเงินเหลือสุทธิหลังหักภาระผ่อนชำระหนี้ทั้งหมดเพียงพอต่อการดำรงชีพ และ 5) สง. ไม่ควรกาหนดเงื่อนไขในสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกค้า อันจะทาให้ลูกค้าเสียประโยชน์และเป็นหนี้มากขึ้น ทั้งนี้ ธปท.วางแผนจะนำแนวนโยบายนี้มาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 เป็นต้นไป