กกต.เดินติวเข้ม สร้างพรรคการเมืองเข้มแข็ง
กกต.แจงพรรคการเมือง กฎหมายใหม่ไม่มีเงินทดรองจ่าย แนะให้เร่งจัดตั้งสาขาและตัวแทนประจำจังหวัด กกต.เตรียมแจกคู่มือพรรคการเมือง - คู่มือไพรมารี่ พร่องส่งตัวแทนออกให้คำปรึกษา นั่งประจำจังหวัด
เมื่อวันที่ 8 ส.ค.62 นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวระหว่างเป็นประธานอบรมโครงการเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการเงินและบัญชีของพรรคการเมืองรุ่นที่ 2 ให้กับตัวแทนพรรคการเมืองและพนักงาน กกต. จังหวัด ว่า พรรคการเมืองเป็นสถาบันหลักทางการเมืองของประเทศ กฎหมายกำหนดที่มาการใช้จ่ายเงินไว้ค่อนข้างซับซ้อนกว่านิติบุคคลอื่น การที่พรรคการเมืองจะเข้มแข็ง การดำเนินการกิจการจะต้องปฎิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย การเงินของพรรคจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ในหลักการของกฎหมายไม่ให้พรรคนำกำไรมาแบ่งปันกัน และกำหนดที่มารายได้ของพรรคไว้อย่างชัดเจน 7 ข้อ ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายของพรรคการเมืองในอดีต สิ่งที่เป็นปัญหาในขณะนี้คือมีการร้องว่าเงินทดรองจ่ายเข้าข่ายเป็นรายได้ของพรรคหรือไม่ ในอดีตเมื่อเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง พรรคโอนเงินค่าน้ำ ค่าไฟไม่ทัน หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรค จะควักเงินส่วนตัวสำรองจ่ายไปก่อน ซึ่งพรรคก็จะลงเป็นรายการเงินทดรองจ่าย ซึ่งเงินประเภทนี้ไม่มีสัญญากู้ และไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเหมือนเงินกู้ แต่กฎหมายใหม่ไม่ได้เขียนเรื่องเงินอื่นๆ เอาไว้ จึงต้องรอการพิจารณาของ กกต. และการรายงานงบการเงินของพรรคการเมืองในรอบปีนี้ก่อน
นายแสวง กล่าวอีกว่า การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของพรรค กกต.จะดูองค์ประกอบจากรายได้และผู้รับ โดยการรับเงินบริจาคพรรคได้ตรวจสอบหรือไม่ ว่าผู้ให้เป็นคนมีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ และพรรครายงานตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ในส่วนของผู้ให้ กกต.จะดูว่าเป็นคนที่มีคุณสมบัติสามารถให้เงินบริจาคกับพรรคการเมืองได้ ต้องไม่ใช่บุคคลที่ไม่ถือสัญชาติไทย หรือบริษัทที่ไม่จดทะเบียนในประเทศไทย จำนวนเงินเป็นไปตามกฎหมายกำหนดหรือไม่ มีพฤติการณ์ให้ ข้าราชการการเมืองใช้ตำแหน่งหน้าที่ชักจูงเรี่ยไร ให้บุคคลหรือเอกชนมาบริจาคให้พรรคการเมืองหรือไม่ เงินบริจาคต้องชอบด้วยกฎหมาย มีแหล่งที่มาชัดเจน ไม่ใช่เอาเงินที่ผ่านการฟอกมาบริจาคกับพรรค
นายแสวง กล่าวต่อว่า กกต.จะตรวจสอบด้วยว่า วิธีการใช้จ่ายของพรรค เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เช่นการระดมทุน ก่อนดำเนินการต้องแจ้งวัตถุประสงค์และวิธีการ ต่อ กกต. เมื่อระดมทุนแล้วต้องออกหลักฐานให้กับผู้สนับสนุนและแจ้งต่อ กกต.ตามแบบฟอร์มที่กำหนด ต้องไม่นำกำไรมาแบ่งปันกัน ซึ่งในเรื่องเงินบริจาคมีความผิดและโทษหลายมาตรา สิ่งเหล่านี้ กกต.จะดูว่าพรรค ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โดยพร้อมให้คำปรึกษา เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยดี
"สิ่งที่ กกต.ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ คือ สถานะของผู้บริจาค และการจัดขายโต๊ะระดมทุน ว่ามีราคาถูกหรือแพง เพราะในข้อเท็จจริงกฎหมายใช้คำว่าระดมทุนก็คือเป็นการขายเพื่อให้เงินมาเข้าพรรค จึงอยู่ที่พรรคจะตั้งราคาโต๊ะเท่าไหร่ก็ได้ กกต.จึงไม่ได้ไปดูเรื่องการตั้งราคาโต๊ะ จะดูเพียงว่าเมื่อเงินที่เข้าสู่พรรคแล้ว นำไปใช้อย่างถูกต้องหรือไม่ โดยจะตรวจทุกพรรคตามรอบ เว้นแต่มีกรณีจำเป็นและมีเรื่องร้องเรียนก็จะแจ้งให้พรรคชี้แจง" นายแสวงกล่าว
นายแสวง กล่าวอีกว่า แม้ขณะนี้จะยังไม่มีการเลือกตั้ง ก็อยากให้พรรคเมืองเร่งจัดตั้งสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด รวมถึงการหาสมาชิกพรรค เพราะในเลือกตั้งครั้งหน้าจะต้องทำไพรมารี่โหวตเต็มรูปแบบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีความซับซ้อนในการปฎิบัติ จึงควรรีบทำ
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการตั้งสาขาพรรค สำนักงาน กกต.จะส่งคนไปดูในพื้นที่ โดยใช้เงินกองทุนพรรคการเมืองจ้างคนไปอยู่จังหวัดละ 1 คน เพื่อให้คำปรึกษา พร้อมกันนี้จะจัดทำคู่มือพรรคการเมือง และคู่มือการทำไพรมารี่โหวต เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินการ