กรมชลฯ แจง ผลกระทบโครงการผันน้ำยวม-สาละวิน จำกัดวงแคบ

กรมชลฯ แจง ผลกระทบโครงการผันน้ำยวม-สาละวิน จำกัดวงแคบ

นักวิชาการแนะให้ลงทุนการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากกว่าการจัดหาน้ำต้นทุน

จากกรณีที่ชาวบ้านลุ่มน้ำยวมและสาละวินยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์คัดค้านโครงการผันน้ำยวม-สาละวินเพื่อเติมน้ำในเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ทางกรมชลประทาน เจ้าของโครงการได้ชี้แจงผ่านสื่อมวลชนถึงผลกระทบที่เป็นข้อกังวลของชาวบ้านว่า ในประเด็นการศึกษารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม EIA ที่ถูกมองว่าไม่ครอบคลุมครบถ้วน มีผู้ได้รับผลกระทบ 25 รายนั้น เขื่อนน้ำยวมที่จะสร้าง จะเพิ่มระดับกักเก็บน้ำจากเดิมอีกเพียง 3 เมตร คือ จากระดับ +139 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มาอยู่ที่ +142 เมตร รทก.ซึ่งจะมีผลไปถึงแค่บริเวณบ้านแม่สวด ระยะทางประมาณ 22 กม. ไม่ได้มีผลตลอดความยาว 240 กม. ของแม่น้ำยวม

โดยระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น 3 เมตรนี้ จะกระทบกับพื้นที่ทำกิน 25 ราย ซึ่งเป็นพื้นที่ทำกินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และไม่มีผลกระทบกับที่อยู่อาศัยใดๆ กรมชลฯ กล่าว

นอกจากนี้ น้ำจะไม่ท่วมชาวบ้านริมแม่น้ำเงาเหนือขึ้นไปอย่างที่กังวลเพราะบ้านสบเงาอยู่สูงกว่าระดับน้ำที่จะกักเก็บคืออยู่ที่ +144 เมตร รทก. ส่วนชาวบ้านแม่งูดซึ่งอยู่ปลายอุโมงค์ส่งน้ำบริเวณเขื่อนภูมิพล ก็จะไม่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมจากน้ำที่ผันมาตามอุโมงค์ เนื่องจากน้ำที่ผันจากอุโมงค์จะไหลลงสู่ทะเลสาบดอยเต่าก่อนจะไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล

กรมชลฯ กล่าวว่า เขื่อนภูมิพลโดยปกติน้ำจะไม่เต็มอ่าง โดยมีความจุอ่างเก็บน้ำเหลือประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม. โครงการผันน้ำมาเติมเขื่อนภูมิพล ประมาณ 1,600 ล้าน ลบ.ม. จะมาเติมในพื้นที่ส่วนที่ว่างของอ่างเก็บน้ำ โดยไม่ทำให้ระดับน้ำในเขื่อนภูมิพลล้นเลยแนวขอบอ่างเก็บน้ำที่กำหนดขอบเขตเอาไว้

ในกรณีที่เขื่อนภูมิพลมีน้ำเต็มเขื่อน จะไม่ผันน้ำมาเติมเพิ่ม กรมชลฯ กล่าว

ในส่วนของผลกระทบด้านป่าไม้และระบบนิเวศน์ อื่นๆ กรมชลฯ ระบุว่า ได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบ โดยการปลูกป่าทดแทนป่าไม้ที่สูญเสียไปอย่างน้อย 2 เท่า และกำหนดให้จัดตั้งสถานีเพาะพันธุ์ปลาเพื่อนำไปปล่อยคืนสู่ลำน้ำยวมทั้งในบริเวณเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน และมีการออกแบบอุปกรณ์ป้องกันมิให้ปลาเข้าใกล้สถานีสูบน้ำเพื่อไม่ให้ปลาหลุดเข้าไปในอุโมงค์ส่งน้ำ

ส่วนผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง ได้มีการกำหนดพื้นที่ทิ้งวัสดุขุดให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และมีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยพื้นที่จัดการวัสดุต้องไม่อยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพชั้น 1เอ และ 1บี ห่างจากลำนำ้สายหลัก และห่างจากชุมชน

กรมชลฯ กล่าวว่า ในประเด็นของการมีส่วนร่วม ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์และจัดเวทีครอบคลุมพื้นที่ของโคงการ คือ 36 หมู่บ้านในสองจังหวัดคือแม่อ่องสอนกับเชียงใหม่ทั้งในขั้นการศึกษาความเหมาะสมและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ในช่วงเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2559ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561และในช่วงงานสำรวจออกแบบซึ่งกำลังดำเนินการในปัจจุบัน ในช่วงเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2561 ถึงปัจจุบัน รวมทั้งหมด 16 ครั้ง ซึ่งมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วม

อย่างไรก็ดี นักวิชาการด้านการบริหารจัดการน้ำชี้ว่าทางรัฐควรพิจารณาการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าการลงทุนจัดหาน้ำต้นทุนเพิ่ม

โดย ผศ. ดร. สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า ขอตั้งคำถามว่าทุกวันนี้ เราปล่อยน้ำฝนน้ำท่าไหลทิ้งลงทะเลและแม่น้ำโขงปีละเท่าไหร่ ประสิทธิภาพระบบชลประทานอยู่ที่ร้อยละเท่าไหร่ และน้ำที่สูญเสียในระบบผลิตและส่งน้ำประปาอยู่ที่ร้อยละเท่าไหร่

ดร. สิตางศ์ุกล่าวว่า ถ้าเราเอาน้ำที่หายไปกลับคืนมาได้สัก 50% ยังจำเป็นต้องผันน้ำข้ามลุ่มเช่นผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินสาละวิน หรือผันน้ำจากลุ่มน้ำโขงอีกหรือไม่

“ดิฉันเข้าใจดีว่าหนึ่งในพันธกิจของกรมชลประทาน คือ การจัดหาแหล่งน้ำ พูดง่ายๆ คือ เพิ่ม supply เพิ่มน้ำต้นทุน แต่ถามจริงๆว่า เราต้องหาอีกเท่าไหร่ถึงจะพอกับความต้องการที่ไม่มีเพดาน” ดร.สิตางศุ์กล่าว

ดร. สิตางศุ์เสนอแนะว่า ควรใช้งบมาลงทุนกับเทคโนโลยีประหยัดน้ำ เทคโนโลยีการนำกลับมาใช้ใหม่และการรีไซเคิล เพิ่มประสิทธิภาพชลประทาน ลดน้ำสูญเสียของการส่งน้ำระบบท่อของประปาจะดีกว่า

ทางด้าน รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ลุ่มน้ำสาละวินมีชนิดปลาที่แตกต่างกันกับปลาที่อยู่ในลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นอย่างมาก โดยมีปลาเฉพาะถิ่นที่ไม่เคยมีในระบบแม่น้ำเจ้าพระยามากกว่า 156 ชนิด จากทั้งหมดพบ 192 ชนิด ในระบบน้ำสาละวินโดยมีเพียง 7 ชนิดที่เหมือนกับปลาในระบบแม่น้ำเจ้าพระยา และมี 4 ชนิดที่พบเหมือนกับปลาในระบบลุ่มน้ำโขง

สาเหตุที่ปลาในแม่น้ำสาละวินแตกต่าง เนื่องจากน้ำไหลแรงและน้ำลึก สาละวินน้ำเย็น และมีพื้นท้องน้ำเป็นหิน มีความเฉพาะมาก ปลาเลยเฉพาะมาก

"นี่คือขุมทรัพย์ของชาติที่ล้ำค่ามากๆ เป็นปลาเฉพาะถิ่นซึ่งมีเฉพาะที่ ที่อื่นไม่มี" รศ.ดร.อภินันท์กล่าว “หากเมื่อไหร่มีการเชื่อมต่อกันของระบบน้ำที่มีปลาแตกต่างชนิดกันมาก ก็จะมีการปนเปื้อนทางพันธุกรรมที่ไม่น่าให้อภัย หากใกล้เคียงกัน อยู่ในลุ่มน้ำเดียวกันก็พอทำเนา แต่ก็ไม่ควรกระทำ อย่ามองแค่เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ มีวิธีการอื่นอีกหลากหลายที่แก้ปัญหาเรื่องน้ำแล้งได้อย่างยิ่งยวด อย่าเลือกวิธีการที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นมาก่อนเรามาก"

ภาพ แม่น้ำยวม/ เครดิต: Transborder News