กรมชลฯ เผยอีก 20 ปีทั่วโลกขาดน้ำ
กรมชลฯ เผย อีก20ปี คนทั่วโลกขาดน้ำ เตรียมรับมือน้อมนำศาสตร์พระราชาไว้ในยุทธศาสตร์น้ำ20ปี ตามแนวพระราชดำริใช้ทรัพยากรน้ำอย่างฉลาด
เมื่อวันที่ 12 ส.ค.62 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทานและเลขาธิการ Thai National Committee on Irrigation and Drainage : THAICID เปิดเผยภายหลังการประชุมวิชาการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ว่า การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของไทย ได้ดำเนินการสอดคล้องกับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์ทรงส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่รอบตัว เพื่อมาสร้างพลังงานให้ฐานเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องน้ำที่ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นลำดับต้นๆ ทรงมีพระราชดำริให้ใช้ทรัพยากรน้ำอย่างฉลาด คุ้มค่า ไม่ใช้น้ำอย่างสิ้นเปลืองโดยไร้ประโยชน์ จนก่อเกิดแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่อันเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำความเจริญให้ประเทศ จนมาถึงสมัยรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระราชปณิธานและมีความตั้งใจอันแน่วแน่ในการทรงงานเพื่อจะสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 อันจะเกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน
ทั้งนี้ กรมชลประทานน้อมนำแนวคิดของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาใช้จัดทำยุทธศาสตร์กรมชลประ ทาน 20 ปี ซึ่งจะสอดคลองกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรฯ โดยให้ความสำคัญกับทรัพยากรน้ำที่เป็นอาวุธสำคัญในกระบวนการผลิตอาหารและพลังงาน ภายใต้นโยบายส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งแหล่งน้ำชุมชน รวมถึงทะเล นโยบายแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ นโยบายพัฒนาจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ให้ใช้หมุนเวียนเพื่อให้การใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า เป็นต้น เป้าหมายเพื่อให้ชาติมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า สภาพภูมิอากาศของโลกกำลังเปลี่ยนแปลง ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า จะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะประชากรเพิ่มขึ้น การใช้น้ำมากขึ้น ขณะที่น้ำเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ภายในปี 2579 กรมชลประทานได้กำหนดทิศทางการทำงานด้านบริหารจัดการน้ำในประเทศครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ เพื่อจะเพิ่มผลผลิตของน้ำทั้งระบบให้ทัดเทียมระดับสากล การนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำและใช้น้ำทุกภาคส่วน เพิ่มการกักเก็บน้ำในพื้นที่การจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) พร้อมทีมวิเคราะห์ข้อมูลที่ทรงประสิทธิภาพ การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย นวัตกรรมใหม่มาใช้บริหารจัดการน้ำ ลดความซ้ำซ้อน การพัฒนาความมั่นคงของน้ำ พลังงานและการเกษตร โดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การดำเนินยุทธศาสตร์ที่กล่าวมาทั้งหมด เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศให้มากที่สุด
“ผู้แทนหลายประเทศที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็น ผู้แทนองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft fur Internationale Zusammenarbeit : GIZ) ผู้แทนจากโครงการความร่วมมือไทย-ออสเตรเลีย รวมทั้งผู้แทนจากประเทศไทย เห็นตรงกันว่าจะใช้น้ำให้เกิดคุณค่าสูงสุดได้อย่างไร รวมทั้งการใช้นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เตรียมรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เช่น ฝนไม่ตกในฤดูฝน จะรับมือกับภาวะวิกฤตินี้ได้อย่างไร ซึ่งเป็นโจทย์เดียวกับประเทศไทย อย่างไรก็ดี การประชุมวิชาการฯครั้งนี้ทำให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการบริหารจัดการน้ำ ได้รับองค์ความรู้ที่หลากหลายผสมผสานจากหลายภูมิภาค โดยมีเป้าหมายสำคัญเดียวกันคือ ส่งเสริมความสัมพันธ์ของน้ำ พลังงาน และอาหาร” นายเฉลิมเกียรติกล่าว