ฝ่ายค้านยื่นซักฟอก 'นายกฯ' สัปดาห์นี้ ปมไม่ทำตามรธน.
"สุทิน" เผยฝ่ายค้านยื่นซักฟอก "นายกฯ" ไม่ลงมติปมไม่ทำตามรธน.สัปดาห์นี้ มั่นใจเข้าเงื่อนไข ม.152 เหตุเป็นต้นทางการบริหารงานแผ่นดิน ระบุเงื่อนไขยื่นได้ปีละครั้ง ไม่ทำให้งานแก้ปัญหาปชช. ไม่เสียโอกาส ย้ำเป็นการซักฟอกที่คุ้มค่า
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยว่าภายในสัปดาห์นี้ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้เปิดการอภิปรายทั่วไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ต่อประเด็นการกระทำของนายกฯ ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ อาทิ การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ที่ไม่ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ ซึ่งนำมาใช้ในนโยบายของรัฐบาลด้านต่างๆ , การกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปดังกล่าวเป็นมาตรการที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถหลบเลี่ยงการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสภาผู้แทนราษฎร หรือการหลบเลี่ยงตอบกระทู้ถามสดของสมาชิกสภาฯ ได้
อีกทั้งตนเชื่อมั่นว่าการยื่นญัตติดังกล่าวจะเข้าเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญ มาตรา152 กำหนดที่กำหนดว่าให้เป็นการสอบถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาต่อรัฐบาล เพราะกรณีที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็นการสอบถามข้อเท็จจริงที่เป็นต้นทางของการบริหารราชการแผ่นดินของนายกฯ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าหลักการปฏิบัติของมาตราดังกล่าว ที่เขียนไว้ในร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาจะไม่เป็นปัญหาต่อการยื่นญัตติดังกล่าว เพราะเชื่อว่าข้อบังคับการประชุมสภาฯ จะแล้วเสร็จสัปดาห์นี้ หรือหากไม่แล้วเสร็จ สามารถยื่นญัตติรอไว้ได้
“ผมมั่นใจว่าเมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติดังกล่าวแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะไม่มีทางอ้างความไม่พร้อมหรือติดภารกิจราชการ เพื่อหลบเลี่ยงการชี้แจงข้อเท็จจริงตามญัตติที่เสนอได้ เพราะหากนายกฯ หลบเลี่ยง จะถือว่าเป็นการกระทำที่จงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แม้มาตรา 152 จะไม่เขียนมาตรการลงโทษ แต่ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถพิจารณาเอาผิดว่าด้วยมาตรฐานจริยธรรมได้ ขณะเดียวกันเมื่อประธานสภาฯ รับญัตติไว้พิจารณาแล้วต้องใช้ดุลยพินิจบรรจุเรื่องไว้ในวาระการประชุมที่เหมาะสม ไม่ใช่บรรจุไว้ท้ายสุดของวาระประชุม” นายสุทิน กล่าว
เมื่อถามว่าการใช้กลไกมาตรา 152 รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำได้ปีละหนึ่งครั้ง มองว่าหากยื่นเรื่องดังกล่าวจะเสียโอกาสในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า เชื่อว่าไม่เสียโอกาส และเป็นการยื่นญัตติที่คุ้มค่า
เมื่อถามว่าผลของญัตติดังกล่าวจะเข้าข่ายชี้นำการพิจารณาขององค์กรตรวจสอบที่รับเรื่องถวายสัตย์ฯ ไว้พิจารณาหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ไม่ใช่การชี้นำ เพราะกระบวนการของสภาฯ เป็นขั้นตอนที่สามารถดำเนินการได้ ตามสิทธิ อย่างไรก็ตามผลของการชี้แจงดังกล่าวของนายกฯ หากพบประเด็นที่มีน้ำหนักต่อการยื่นเป็นข้อมูลให้องค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบสามารถดำเนินการยื่นเป็นข้อมูลเพิ่มเติมได้.