เปิดชื่อ 'ส.ส.รบ.' โดดประชุม ทำฝั่งรบ.แพ้โหวตฝ่ายค้าน 2 รอบ
เปิดชื่อ "ส.ส.รบ." โดดประชุม ทำฝั่งรบ.แพ้โหวตฝ่ายค้าน 2 รอบ "ปธ.วิปรบ." ขอแก้ไข ยืดเวลาลงมติ เหตุปัญหาไม่ได้ยินเสียง แนะให้ใช้วิธีอื่นเพื่อโหวต หลังพลการประมวลผลลงมติ ไม่ตรงการออกเสียง
เมื่อเวลา 12.40 น. วันที่ 15 ส.ค.62 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าสู่การพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตามที่ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ ที่มีนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กมธ. ต่อเนื่อง ในข้อที่ 14 แต่การพิจารณาไม่สามารถเข้าสู่วาระพิจารณาต่อได้ เนื่องจาก ส.ส.ขอหารือต่อที่ประชุม
โดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ชี้แจงต่อที่ประชุมว่าข้อบังคับการประชุมสภาฯ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล หรือ เป็นร่างกฎหมายของรัฐบาล และกรณีที่มีการโหวตแพ้ หรือ ชนะนั้น ไม่ใช่กรณีที่รัฐบาลแพ้โหวตในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ยอมรับว่า ส.ส. ที่ไม่ทราบว่าจะมีกำหนดลงมติเมื่อใด ทำให้ออกไปผ่อนคลายอิริยาบถภายนอกห้องประชุม และเมื่อเรียกให้ลงมติ ไม่สามารถกลับเข้าห้องประชุมได้ทัน ดังนั้นขอให้ยืดเวลาการลงมติในแต่ละประเด็นออกไป นอกจากนั้นภายหลังการลงมติ ได้ตรวจสอบผลการลงมติ พบว่า มีส.ส.บางคน ที่กดลงมติแบบหนึ่ง แต่ผลลัพท์ที่ออกมาเป็นอีกแบบซึ่งไม่ตรงกับการลงคะแนนไว้ จึงขอให้ตรวจสอบ รวมถึงพิจารณาใช้วิธีการอื่นเพื่อตรวจสอบ ส่วนการพิจารณาร่างข้อบังคับนั้น ได้ขอให้ส.ส.ลงมติตามกมธ.ฯ เสียงข้างมาก เป็นหลัก
ขณะที่นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายทักท้วงว่า ส.ส.ไม่สามารถยกมือสนับสนุน กมธ.ฯ ตามเสียงข้างมากทุกเรื่อง เพราะส.ส.มีสิทธิที่จะพิจารณาด้วยความอิสระ
ทั้งนี้ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธาน ให้วิปรัฐบาลไปตรวจสอบฝ่ายของตนเองว่าตรงหรือไม่ เพราะเป็นห่วง เพราะผ่านกฎหมายแต่ละฉบับหากมีข้อผิดพลาด จะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ส.ส. จะมีปัญหา ดังนั้นจะตรวจสอบลงมติผ่านระบบลงคะแนนต้องตรวจสอบว่าตรงกับการให้ความเห็นหรือไม่ เพื่อให้ไม่มีข้อผิดพลาด ทั้งนี้ขอให้เลขาธิการสภาฯ ตั้งลำโพงกระจายเสียงเพิ่มเติม เพื่อให้การกระจายเสียงการประชุมทั่วถึงภายในอาคารรัฐสภา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการลงมติที่ปรากฎว่าเสียงข้างมากของสภาฯ ซึ่งประกอบด้วยเสียงของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล มี 254 เสียง ซึ่งแพ้การลงมติในข้อบังคับ ข้อที่ 9 และ ข้อ 13 ของร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ ต่อเสียง ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่มี 244 เสียง นั้น จากการตรวจสอบผลการลงมติมีจุดที่น่าสนใจ คือ ผลการลงมติ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ต่อข้อ 9 ของร่างข้อบังคับการประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุม 414 เสียง เสียงฝั่งรัฐบาล แพ้โหวต เสียงฝั่งฝ่ายค้าน 205 ต่อ 207 เสียง พบว่า ส.ส.ที่อยู่ฝั่งรัฐบาล ขาดการประชุมไปถึง 37 คน อาทิ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชนปฏิรูป, นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่, นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังไทยรักไทย, นายชัชวาลย์ คงอุดม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท, น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ, น.ส.จิตภัร์ ตั๊น กฤดากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์, นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์, นายชัย ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย, นายฐานิสร์ เทียนทอง ส.ส.สะแก้ว พรรคพลังประชารัฐ
นอกจากนั้น ยังมีรัฐมนตรีที่ไม่เข้าร่วมประชุม อาทิ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะรองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายอนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ฐานะรองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายวราวุธ ศิลปอาชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายประภัตร โพธสุธน ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , นายณัฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายเทวัญ ลิปตพัลลภ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา ฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ ฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น
ทั้งนี้ มี ส.ส.ฝั่งรัฐบาลที่ลงมติต่างจากกมธ. เสียงข้างมาก อาทิ นายนริศ ขำนุร้กษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ , นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย เป็นต้น
ขณะที่การลงมติล่าสุด เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ข้อ13(1) ที่มีผู้เข้าร่วมประชุม 460 คน จากสมาชิกที่มีทั้งหมด 499 คน ซึ่งเสียงข้างมากเห็นด้วยให้แก้ไข 234 เสียงซึ่ง ชนะเสียงส.ส.รัฐบาล ที่ลงคะแนน 223 เสียง พบว่า มีส.ส.ฝั่งรัฐบาล ไม่มาลงมติ จำนวน 25 คน อาทิ นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์, นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์, นายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย,นายชัย ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย, นายจักรฤษณ์ ทองศรี ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย, นายเจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย,นายชัชวาลล์ คงอุดม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไทย, นายฐานิศร์ เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว พรรคพลังประชารัฐ, นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ พรรคพลังประชารัฐ, นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา,นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชนปฏิรูป นายเทวัญ ลิปตพัลลภ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา ฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ ฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายวราวุธ ศิลปอาชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายอนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ฐานะรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข