'ถาวร' จี้การบินไทยทบทวนซื้อฝูงบิน1.5แสนล้าน
รมช.คมนาคม จี้บินไทยทบทวนแผนจัดหาเครื่องบินใหม่ให้รอบด้าน ตีกลับเข้าบอร์ดพิจารณา 27 ส.ค.นี้ เร่งตอบคำถามความเหมาะสมเช่าซื้อเฟสแรก 25 ลำ มั่นใจจบกระบวนการใน 2 เดือน จ่อดันเข้า ครม. ไม่เกิน 30 ก.ย.นี้
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการจัดหาเครื่องบินล็อตใหม่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยระบุว่า วันนี้ (19 ส.ค.) ตนได้เชิญนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย พร้อมด้วยฝ่ายบริหารเข้ามาชี้แจงถึงรายละเอียดการจัดหาเครื่องบินใหม่ จากที่เคยเสนอขออนุมัติจำนวน 38 ลำ วงเงินราว 1.56 แสนล้านบาท แต่พบว่าส่วนที่มีความจำเป็นต้องจัดหาในขณะนี้มีเพียง 25 ลำ ดังนั้น จำนวนเครื่องบินที่ต้องใช้งานจริงอีก 7 ปีข้างหน้า คือ จำนวน 25 ลำ ไม่ใช่จำนวน 38 ลำ
“หลังจากที่ผมได้ทราบข้อมูลว่าการบินไทยต้องการซื้อเครื่องบินล็อตใหม่เข้ามาเสริมบริการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยเสนอขอมาแล้วก่อนหน้านี้ โดยฝ่ายบริหารศึกษาว่าบริษัทมีความต้องการใช้เครื่องบินจริงอยู่ที่ 25 ลำ แต่เมื่อโดน สศช.ตั้งข้อสงสัยเรื่องที่มาของแหล่งเงินทุน ก็กลับไปทบทวนแผนใหม่ และกลับมาเสนอต้องการจัดหาเครื่องบินจำนวน 38 ลำ ยึดตามมติ ครม.เดิมเมื่อปี 2554 และถือว่า ครม.ได้เห็นชอบอนุมัติแล้ว แต่ท้ายที่สุดก็ถูกทักท้วงจาก สศช.ว่าแบบเครื่องบินและแผนการใช้งานเปลี่ยน จึงต้องเข้า ครม. อีกรอบ ดังนั้น จำนวนเครื่องบินที่ต้องการใช้งานจริงในอีก 7 ปีข้างหน้า คือ 25 ลำ ไม่ใช่ 38 ลำ เรื่องนี้การบินไทยต้องตอบให้ได้”
อย่างไรก็ดี การตั้งคำถามของตนในครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องของการตีกลับแผน หรือทบทวนแผนใหม่ แต่ตนต้องการให้คณะกรรมการ (บอร์ด) และฝ่ายบริหารของการบินไทย พิจารณาในรายละเอียดของแผนจัดหาเครื่องบินนี้อีกรอบ เพื่อตอบทุกประเด็นคำถามที่สังคมสงสัย ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าบอร์ดการบินไทยจะนัดประชุมหารือเรื่องนี้ในวันที่ 27 ส.ค.2562 โดยตนยืนยันว่ารัฐมนตรีไม่ได้มีหน้าที่ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงแผน เพราะการจัดซื้อจัดจ้างของการบินไทย ถือเป็นอำนาจที่บอร์ดจะพิจารณา ทั้งนี้คาดว่าแผนจัดหาเครื่องบินใหม่จะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ไม่เกิน 30 ก.ย.นี้
นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม ดีดีการบินไทย กล่าวว่า แผนจัดหาเครื่องบินของการบินไทยที่เคยเสนอให้ สศช.พิจารณาก่อนหน้านี้ยังยึดตามกรอบมติ ครม. จำนวน 38 ลำ แต่แบ่งช่วงการจัดหาระยะที่ 1 จำนวน 25 ลำ และระยะที่ 2 จำนวน 13 ลำ โดยภายหลังการปรับเปลี่ยนรัฐบาล ส่งผลให้การบินไทยต้องนำแผนจัดหาดังกล่าว กลับมาพิจารณารายละเอียด เข้าบอร์ดการบินไทย เพื่อเสนอกลับไปให้กระทรวงคมนาคม และ ครม.พิจารณา ถือว่าเป็นการดำเนินงานตามขั้นตอนปกติ
อย่างไรก็ดี จากการประเมินในขณะนี้ การบินไทยจะยังคงเสนอแผนจัดหาเครื่องบินตามกรอบจำนวน วงเงิน และรุ่นของเครื่องบินเช่นเดิม แต่จะตอบทุกข้อสงสัยของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น เพิ่มรายละเอียดของแผนจัดใช้เครื่องบิน เพื่อเพิ่มรายได้ เมื่อมีจำนวนฝูงบินใหม่ 38 ลำเข้ามาเสริมแล้ว จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับฝูงบินที่มีอยู่ปัจจุบัน โดยจะประเมินให้เห็นเป็นภาพรวมในอีก 20 ปีข้างหน้า พร้อมยอมรับว่าการจัดหาฝูงบินล่าช้ากว่าแผนไปแล้ว 3 เดือน แต่ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้แผนรอบคอบมากขึ้น
สำหรับการจัดหาฝูงบินใหม่จำนวนทั้งสิ้น 38 ลำ ระหว่างปี 2562-2569 วงเงินลงทุนรวมไม่เกิน 156,169 ล้านบาท ซึ่งการจัดหาจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ปี 2562-2567 จำนวน 25 ลำ พร้อมเครื่องยนต์สำรอง วงเงินลงทุนรวมไม่เกิน 78,614 ล้านบาท ประกอบด้วย เครื่องบินลำตัวกว้าง พิสัยกลาง-ไกล ขนาด 250-375 ที่นั่ง จำนวน 3 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบพิสัยใกล้ ขนาด 170-220 ที่นั่ง จำนวน 22 ลำ และปี 2563-2569 จำนวน 13 ลำ พร้อมเครื่องยนต์สำรอง วงเงินลงทุนรวมไม่เกิน 77,555 ล้านบาท เพื่อทดแทนการปลดระวางเครื่องบินแอร์บัส A380-800 และเครื่องบินโบอิ้ง 777-200ER