'สุเมธ' โต้ข่าวลือการบินไทยล้มละลาย ยันหนี้สินลดลงต่อเนื่อง
“สุเมธ” โต้ข่าวลือสถานะบินไทยใกล้ล้มละลาย ยันลดหนี้สินรวม 3 พันล้านบาท เตรียมประชุมบอร์ด 27 ส.ค.นี้ตอบทุกข้อสงสัยจัดหาเครื่องบินใหม่ ชี้เครื่องบินเก่าถ้าไม่ปลดระวาง ต้องแบกต้นทุนค่าซ่อมบำรุงสูง
เมื่อวันที่ 20 ส.ค.62 นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กรณีที่มีข่าวลือจากสื่อสังคมออนไลน์ว่าการบินไทยอยู่ในสถานะใกล้ล้มละลายนั้น ขอยืนยันไม่ได้อยู่ในสถานะใกล้ล้มละลาย โดยปัจจุบันการบินไทยมีหนี้สินลดลง คือ หนี้สินระยะยาวลดลงประมาณ 1,000 ล้านบาท และหนี้สินรวมของบริษัทฯ ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่กลับลดลงประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยมีหนี้สินรวม ณ วันที่ 30 มิ.ย.2561 จำนวน 248,264 ล้านบาท เปรียบเทียบกับ ณ วันที่ 30 มิ.ย.2562 จำนวน 245,447 ล้านบาท
อีกทั้ง การบินไทยมีทุนจดทะเบียนเพียง 26,989 ล้านบาท น้อยกว่าสายการบินชั้นนำในระดับเดียวกันมาก อาทิ เจแปนแอร์ไลน์มีทุนจดทะเบียน 52,443 ล้านบาท ออล นิปปอน แอร์เวย์ มีทุนจดทะเบียน 92,187 ล้านบาท และคาเธ่ย์แปซิฟิค มีทุนจดทะเบียน 68,032 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบความสามารถกำลังการผลิตของทุนจดทะเบียนของการบินไทยที่มีน้อยกว่า การบินไทยสามารถผลิตภายใต้สัดส่วนผลผลิต (ASK) ต่อทุน ได้มากกว่าคาเธ่ย์แปซิฟิค 3 เท่า ออล นิปปอน แอร์เวย์ 6 เท่า และเจแปนแอร์ไลน์ 12 เท่า
สำหรับโครงการจัดหาเครื่องบิน 38 ลำ รัฐบาลยังไม่อนุมัติในการจัดหา บริษัทฯ จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงิน 156,000 ล้านบาท หากอนุมัติบริษัทฯ ยังต้องวางแผนในการจัดหาก่อน ดังนั้นการจัดหาเงินจะเป็นในส่วนของเงินมัดจำเท่านั้น อีกทั้งการได้มาของเครื่องบินใช้เวลาประมาณ 2 ปี กว่าจะมีการส่งมอบเครื่องบินใหม่คือ ปี 2563-2565 และบริษัทฯ ขอยืนยันว่าการจัดหาเครื่องบินดังกล่าว มีความจำเป็นในการดำเนินงานทางธุรกิจ โดยไม่ได้มีข้อตกลงไว้ก่อนกับผู้ขายหรือตัวแทนจำหน่ายใดๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ เงินทุนในการจัดหาเครื่องบินที่ต้องใช้ในภาคหน้าบริษัทฯ จะดูตามความเหมาะสมกับสถานะการเงินของบริษัทฯ ในขณะนั้น หากมีสถานะการเงินที่ไม่ควรซื้ออาจจะใช้วิธี เช่าซื้อ เช่าดำเนินการ ซึ่งเปรียบเสมือนการแบ่งจ่าย ส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลาการแบ่งจ่ายประมาณ 12 ปี ดังนั้น การได้มาซึ่งเครื่องบินจึงไม่เป็นภาระต่อสถานะการเงิน ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเครื่องบินที่อยู่ในฝูงบิน จำนวน 103 ลำ ณ ปัจจุบัน และถ้าไม่ปลดระวางจะมีความจำเป็นต้องซ่อมใหญ่ ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงสูงมาก และไม่คุ้มค่า เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ซื้อเครื่องบินใหม่
“หลังจากที่ผมได้ไปหารือกับรัฐมนตรีช่วยฯ ท่านถาวร ก็ทราบว่าท่านเห็นด้วยกับการจัดหาเครื่องบิน แต่ให้ตอบทุกคำถามที่ทุกฝ่ายสงสัย รวมถึงคำถามที่ท่านได้ตั้งข้อสังเกตมาด้วย โดยการบินไทยจะมีการประชุมบอร์ดวันที่ 27 ส.ค.นี้ ก็จะพิจารณาตอบทุกข้อคำถามให้ชัดเจน เพื่อแนบข้อมูลไปกับการเสนอแผนจัดหาเครื่องบินอันเดิม ทำให้แผนมีน้ำหนัก มีเหตุผลมากขึ้น”
นอกจากนี้ บริษัทฯ ขอชี้แจงเพิ่ม ตามที่มีการกล่าวถึงผลกระทบจากการเปิดน่านฟ้าเสรี บริษัทฯขอยืนยันว่าไม่ได้ต่อต้านนโยบายการเปิดน่านฟ้าเสรี หากแต่มีข้อพึงกังวลถึงความเท่าเทียมกันในเรื่องการแข่งขันในประเทศภายใต้ธุรกิจการบิน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาไม่ว่าก่อนหรือหลังนโยบายการเปิดน่านฟ้าเสรีการบินไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติไม่เคยได้รับการสงวนสิทธิ์ให้เป็นผู้ผูกขาดการบินหรือเอกสิทธิ์อื่นใด ในขณะที่สายการบินแห่งชาติของหลายๆ ประเทศ ได้รับการดูแลเป็นพิเศษในฐานะสายการบินแห่งชาติของอุตสาหกรรมการบินในประเทศนั้นๆ