'ดีอี' เร่งยกระดับไทยสู่ฮับอาเซียน สร้างคนดิจิทัล 'แสนคน' ใน 2 ปี
"รมว.ดีอี" เยี่ยมชมความร่วมมือรัฐ-เอกชนขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ล่าสุดหนุน ดีป้า ผนึกอมตะ ซิตี้ ตั้ง "ดีป้า อมตะ สมาร์ท คลาสรูม และ อมตะ สมาร์ทชิตี้" ยกระดับแรงงาน ตั้งเป้าสร้างคนดิจิทัล "แสนคน" ใน 2 ปี หนุนไทยสู่ฮับอาเซียน
เมื่อวันที่ 24 ส.ค.62 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พร้อมคณะ ได้ปฏิบัติการกิจลงพื้นที่ตรวจราชการงานโครงการสำคัญของกระทรวงฯ ณ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา ในโอกาสนี้ได้เข้าเยี่ยมชมงาน depa- AMATA-SMART Classroom & AMATA –SMART City Showcase และรับฟังบรรยายเกี่ยวกับการแนะนำเมืองอัจฉริยะอมตะ ที่นิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี ต่อจากนั้นได้เดินทางไปเยี่ยมชมโครงการเน็ตประชารัฐบ้านวังสะแก หมู่ที่ 3 ต.ปากน้ำ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ได้ร่วมกับ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการ SMART Classroom @ AMATA EDUTown เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขานรับยุทธศาสตร์ชาติ ในเรื่องการพัฒนากําลังคนดิจิทัล ซึ่งถือเป็นรากฐานของการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งรองรับการพัฒนาพื้นที่อีอีซีให้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Thailand 4.0
นายพุทธิพงษ์ ได้เป็นประธานเปิดตัวเปิดตัวห้องเรียนอัจฉริยะ (depa-AMATA SMART Classroom) ขึ้นเป็นแห่งแรกในอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นศูนย์กลางในเรื่องการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบสำหรับการพัฒนากำลังคนและบุคลากรด้านดิจิทัล รวบรวมความรู้และเทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมหลัก เช่น Robotic, Mechatronics, Smart Electronic, Automotive, Internet of Thing (IoT) เป็นต้น และยังเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้เกิดเครือข่ายในการพัฒนา EEC Digital Training Hub ในรูปแบบ PPAP (Public Private Academic Partnership) ด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล
“ปัจจุบันกำลังและบุคลากรในสาขาเหล่านี้ ประเทศยังมีความขาดแคลน โดยในปี 2563 depa AMATA SMART Classroom แห่งนี้ จะเป็นสถานที่ในการพัฒนาและยกระดับกำลังคนและบุคลากรสาขาดังกล่าว ซึ่งตั้งเป้าหมายพัฒนากำลังคนและบุคลากร ไม่น้อยกว่า 12,000 ราย และความพิเศษสุด คือ ผู้ที่ต้องการพัฒนาและยกระดับตนเอง สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา” นายพุทธิพงษ์ กล่าวเสริม
ที่ผ่านมา บมจ.อมตะ ได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยอมตะ ขึ้นในพื้นที่นิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี โดยเป็นส่วนหนึ่งใน “โครงการเมืองการศึกษาอมตะ” หรือ AMATA EDUTown เพื่อรองรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอมตะ (AMATA SMART CITY) ในพื้นที่อีอีซี มีการจัดการศึกษาหลักสูตรของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกด้านวิศวกรรม รองรับการเป็นเมืองอัจฉริยะในพื้นที่อีอีซี และได้เสนอโครงการ Smart University เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการส่งเสริมสนับสนุนแนวทางการพัฒนาบุคลากรทางดิจิทัล และบุคลากรรองรับเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ มีการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก หน่วยงานด้านการศึกษาของไทย และสถาบัน Thai German Institute
รมว.ดีอี ยังได้เดินทางไปเยี่ยมชมจุดติดตั้งโครงการเน็ตประชารัฐบ้านวังสะแก จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว ส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และที่ผ่านมาประสบความสำเร็จจากการติดตั้งเน็ตประชารัฐ ตามโครงการของรัฐบาล แบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก
ได้แก่ 1.ด้านการศึกษา/เรียนรู้ สำหรับเยาวชนและนักศึกษาในทุกระดับ โดยเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎ เกี่ยวกับโครงการแผนที่เดินดิน เยาวชนในหมู่บ้าน สามารถใช้ค้นคว้า หาความรู้ ได้ทุกวัน และทุกช่วงวัย ไม่ต้องเดินทางเข้าไปในตัวอำเภอเพื่อเช่าใช้อินเทอร์เน็ตจากร้านค้าที่เปิดให้บริการทั่วไป ลดอัตราเสี่ยงเรื่องการเดินทางและเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งเป็นแหล่ง Edutainment สำหรับเด็กเล็ก เข้ามาดูการ์ตูน เพื่อพัฒนาทักษะและสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต
นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับชาวบ้านวังสะแก เข้ามาสืบค้นข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต สำหรับใช้ประโยชน์ในการประกอบธุรกิจทางการเกษตร และหาข้อมูลในชีวิตประจำวัน วัยสูงอายุ เข้ามาใช้งานเพื่อความบันเทิง ฟังบทเพลง ข่าวสารบ้านเมือง ปัจจุบันเห็นผลสำเร็จชัดเจนในหลายด้าน ได้แก่ การที่ชาวบ้านเริ่มนำสินค้าชุมชนวางจำหน่ายผ่านออนไลน์
2.ด้านการเกษตร มีการจัดให้มีสภากาแฟทุกเช้า เพื่อให้สมาชิกได้พูดคุยกันเกี่ยวกับการทำเกษตร และปัญหาที่พบ และมีการประชุมเดือนละครั้ง เพื่อติดตามราคาพืชผลทางการเกษตร จากตลาดไท และแก้ไขปัญหาร่วมกันกรณีเกิดโรคระบาดในพืช และราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ
3. ด้านการท่องเที่ยว ได้พัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเกษตรกรรม ปัจจุบัน มีกลุ่มศึกษาดูงานจากหลายองค์กรให้ความสนใจในความสำเร็จของบ้านวังสะแก ทั้งเรื่องการเป็นหมู่บ้านปลอดยาเสพติด และการพัฒนาหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เน็ตประชารัฐเข้ามาช่วยส่งเสริมบูรณาการ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกมิติ
ปัจจุบันบ้านวังสะแก ยังได้ต่อยอดการใช้ประโยชน์ของสถานที่ติดตั้งเน็ตประชารัฐ ณ บริเวณที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ให้เป็นศูนย์บริการรับเรื่องราวร้องทุกข์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-กรุงศรีชี้เศรษฐกิจไทยอ่อนแรง โอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยต่ำ หั่นจีดีพีเหลือ2.9%ส่งออกติดลบ2.8%
-เศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติปี 2540
-จับตาประกาศจีดีพี เศรษฐกิจไทยไตรมาส2 ชะลอโตแค่2.7%
-อาเซียนจะอยู่อย่างไรในเศรษฐกิจโลกแบบนี้