ทส.เดินหน้าหนุนราษฎรนาแห้ว ปลูกป่า คทช.กว่า 7 หมื่นไร่

ทส.เดินหน้าหนุนราษฎรนาแห้ว ปลูกป่า คทช.กว่า 7 หมื่นไร่

ทส. เดินหน้าแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของประชาชนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ภายใต้นิยาม "รัฐได้ป่า ประชาได้ที่ทำกิน บนผืนแผ่นดินเดียวกัน"

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ลงพื้นที่ติดตามและตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าโครงการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชน (คทช.) ในพื้นที่นาแห้ว จ.เลย พบปะประชาชน ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชน ผู้นำชุมชน คณะกรรมการเร่งรัดการจัดหาที่ดินทำกินชุมชน (คทช.) และชุดปฎิบัติการ คทช. อำเภอนาแห้ว ร่วมประกาศเจตนารมณ์ การมีส่วนร่วมสนับสนุนการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแล บำรุงรักษาป่า ตามนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ เยี่ยมชมนิทรรศการการปฏิบัติงานตามโครงการ “นาแห้วโมเดล” และผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน ของดีที่อำเภอนาแห้ว มอบหนังสือแสดงสิทธิ์โครงการป่าชุมชน จำนวน 5 หมู่บ้าน

พร้อมมอบกล้าไม้มีค่า ให้ตัวแทนผู้นำชุมชนอำเภอนาแห้ว รวมถึงปล่อยแถว ขบวนรถยนต์ลำเลียงกล้าไม้มีค่า จำนวน 300,000 กล้า เพื่อปลูกในพื้นที่ คทช. กลุ่มที่ 3 ลุ่มน้ำ 1,2 ก่อนมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 และร่วมปลูกต้นไม้ในแปลงพื้นที่ของเกษตรกรที่ได้รับการจัดระเบียบการใช้ที่ดินเพื่อรับรองสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ คทช. ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น1,2

รมว.ทส. กล่าวว่า หัวใจสำคัญของโครงการ คทช. การฟื้นฟูผืนป่า และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย คือการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคประชาชน หน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคือการอนุรักษ์ผืนป่า แต่เมื่อเกิดกรณีที่ป่ารุกคน หรือคนรุกป่า จึงเกิดเป็นแนวทางที่ทำให้คนและป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ป่า ต้องเรียนรู้ที่จะรักษาและอนุรักษ์ป่าที่ตัวเองอยู่ ความอุดมสมบูรณ์ของป่า และการทำมาหากินของเกษตรกรจะต้องไปด้วยกันได้ แต่ต้องไปในเชิงถ้อยทีถ้อยอาศัย พื้นที่ป่าในปัจจุบันนั้นโดนรุกมากขึ้น การไม่มีป่าต้นน้ำ ทำให้เกิดอุบัติภัยทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม ในพื้นที่จังหวัดเลย ถือเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1,2 ซึ่งคือป่าต้นน้ำของประเทศ ดังนั้น เราจะต้องอนุรักษ์พื้นที่แห่งนี้ ควบคู่ไปกับการหาวิธีให้ประชาชนได้ทำมาหากินอย่างสมบูรณ์ นาแห้วโมเดลถือว่าเป็นตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จ และสามารถนำไปเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆ และจังหวัดอื่นๆ ต่อไปได้

 

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้จะนำร่องฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่ 13 จังหวัด มีแนวทางการฟื้นฟูเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจะฟื้นฟูพื้นที่ คทช.ลุ่มน้ำชั้น 1,2 ที่มีการอยู่อาศัยทำกินมาก่อนมติ ครม. 30 มิ.ย.41 เป็นพื้นที่ที่ประชาชนจะได้รับการรับรองสิทธิ์ให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินและต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของกรมป่าไม้ ซึ่งจะส่งเสริมให้ปลูกป่า 3 อย่างร้อยละ 20 ของพื้นที่ โดยการปลูกฟื้นฟูป่าในจังหวัดเลย มีพื้นที่เป้าหมาย 75,734 ไร่ มีราษฎรที่ร่วมโครงการประมาณ 26,705 ราย มีสัดส่วนพื้นที่ 1 ไร่ ต้องปลูกต้นไม้ 200 ต้น แบ่งเป็นไม้โครงสร้างหลัก ซึ่งเป็นไม้ประจำถิ่นและไม้ยืนต้น เช่น ต้นสัก ประดู่ยางนา พะยูง จำนวน 100 ต้น ไม้โครงสร้างรองซึ่งเป็นไม้ปลูกไว้สำหรับทานใบ ทานผล เช่น ขี้เหล็ก สะตอ จำนวน 50 ต้น และปลูกพืชคลุมดินพืชผลทางการเกษตรและเป็นพืชที่ไม่ต้องการแสงมาก ให้ผลผลิตเร็ว เช่น กาแฟ หัวข่า อีก 50 ต้น ให้ประชาชนเป็นผู้ปลูกและดูแลรักษาตามแนวเขตพื้นที่แปลงของตนเอง และห้ามตัดฟันเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ป้องกันการชะล้าง และการพังทลายของหน้าดิน โดยการปลูกฟื้นฟูรูปแบบดังกล่าวจะนำร่อง 13 จังหวัดภายในปีนี้ และขยายผลในพื้นที่อื่นๆต่อไปในอนาคต