เครือข่ายต้านสารพิษเกษตรเปิดโปงเทคนิคข่มขู่คุกคามนักรณรงค์และนักวิชาการต่อต้านสารพิษเกษตร

เครือข่ายต้านสารพิษเกษตรเปิดโปงเทคนิคข่มขู่คุกคามนักรณรงค์และนักวิชาการต่อต้านสารพิษเกษตร

รายล่าสุด เป็นนายแพทย์ชื่อดังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจอเรื่องร้องเรียนหลังออกมาเปิดโปงภัยสารพิษเกษตร

โดยมูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย (BioThai) องค์กรรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและอธิปไตยทางด้านอาหาร ได้รวบรวมการข่มขู่คุกคามนักวิชาการและนักรณรงค์ต่อต้นสารพิษเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งถูกระบุว่ามีพิษร้ายแรงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมและเกี่ยวพันผลประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติ โดยพบว่า มีการใช้แทคติกต่างๆในการข่มขู่คุกคามกลุ่มบุคคลดังกล่าวในช่วงของการณรงค์ให้มีการแบนสารพิษ 3 ตัวนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา


กล่าวคือ ในช่วงกลางพ.. 2559 มีการขู่จะฟ้องร้องหมิ่นประมาท เมื่อเครือข่ายรณรงค์ฯ เปิดเผยผลการตกค้างของสารเคมีในผักและผลไม้ที่มีตรารับรองของหน่วยงานราชการ โดยในครั้งนั้น มีอธิบดีของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง ได้แถลงว่าจะฟ้องร้องมูลนิธิชีวิถี (BIOTHAI) และ THai-Pan ซึ่งเปิดเผยผลการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้ จากการสุ่มตรวจผักผลไม้ทั้งในตลาดทั่วไป โมเดิร์นเทรด รวมทั้งที่ติดตรารับรอง GAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยอ้างว่า ทำให้หน่วยงานของรัฐเสียหาย


อย่างไรก็ตามเมื่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดประชุมเพื่อสอบสวนเรื่องนี้ ปรากฎว่า กรมที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องดังกล่าวยอมรับว่า เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการใช้ตรารับรองจริง และการฟ้องร้องก็ไม่เกิดขึ้นตามคำขู่แต่ประการใด


ในช่วงเดือนสิงหาคมปีถัดมา มีการบิดเบือนข้อมูล ใช้ข้อมูลเท็จโจมตี ซึ่งกรณีนี้ เกิดขึ้นหลังการแถลงข่าวของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเพื่อให้มีการยกเลิกการต่อทะเบียนสารพิษร้ายแรงตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข แต่ปรากฏสว่ามีคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ได้บิดเบือนเนื้อหาการแถลงข่าว


ไทยแพนและเครือข่ายเกษตรทางเลือกได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ดังกล่าว และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งผลการสอบสวนของกองบรรณาธิการ ปรากฎว่าคอลัมนิสต์ดังกล่าวบิดเบือนจริง โดยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ได้ดำเนินการลงโทษด้วยการตักเตือน และสั่งการให้คอลัมนิสต์ดังกล่าวขอโทษและแก้ไขข่าวดังกล่าว


ในช่วงปลายเดือนมกราคม ปี พ.. 2561 มีการกดดันให้นักวิชาการลาออกจากมหาวิทยาลัย โดยเลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ซึ่งถูกตั้งคำถามว่าเกี่ยวข้องกับสมาคมค้าสารพิษกำจัดศัตรูพืช แถลงกดดันให้ รศ.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล นักวิจัยดีเด่น ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่เปิดเผยข้อมูลการตกค้างของสารพิษกำจัดศัตรูพืชในสิ่งแวดล้อม ให้ลาออกจากมหาวิทยาลัยภายใน 2 เดือน

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองผู้บริโภค 9 องค์กรและประชาชนทั่วไปร่วมกันเปิดเคมเปญรณรงค์ "ร่วมปกป้อง รศ.ดร. พวงรัตน์ - "เสรีภาพทางวิชาการ" ต้องได้รับความคุ้มครองจากการคุกคาม" ทำให้ได้ชื่อสนับสนุนกว่า 16,000 คน


ในช่วงเดือนกันยายนปีเดียวกัน มีการทำจดหมายเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ไบโอไทยยุติบทบาทการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสารพิษกำจัดศัตรูพืช โดยกลุ่มเครือข่ายเกษตรและอาหารปลอดภัย ซึ่งถูกตั้งคำถามเช่นกันถึงความเกี่ยวข้องกับสมาคมค้าสารพิษ ได้ทำหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ยับยั้งการกระทำของไบโอไทย อีกทั้งได้สำเนาหนังสือดังกล่าว ยังได้จัดส่งไปยังรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธาน “คณะกรรมการแก้ปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง” ไปพร้อมกันด้วย

และในช่วงท้ายปีเดียวกัน เลขาธิการของสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ได้ใช้ถ้อยคำหยาบคายโพสต์ข่มขู่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา นักวิชาการดีเด่นแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญโรคด้านประสาทระดับโลกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับพิษภัยของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และเรียกร้องให้มีการยกเลิกการใช้สารพิษที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด

และล่าสุด ศ.นพ. ธีรวัฒน์ ถูกยื่นเรื่องร้องเรียนไปทางมหาวิทยาลัยเพื่อกดดันให้หยุดการเผยแพร่ความจริง โดยกลุ่มคัดค้านการแบนสารพิษร้ายแรงอีกกลุ่มหนึ่ง

โดยศ.นพ.ธีระวัฒน์ จะเดินทางไปให้ข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการฯของมหาวิทยาลัย ในวันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคมนี้ ไบโอไทยระบุ

ทั้งนี้ เครือข่ายวิชาการ เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม  และประชาชนที่สนับสนุนการแบนสารพิษทั้ง 3 ชนิดนี้จะไปรวมตัวกัน เพื่อสนับสนุนการทำงานของนักวิชาการท่านนี้ ไบโอไทยระบุ

ภาพ หนึ่งในภาพกราฟฟิคที่โพสต์ในเฟสบุ๊คส่วนตัวของ ศ.นพ.ธีรวัฒน์ เมื่อเร็วๆนี้/ เครดิต: ศ.นพ. ธีรวัฒน์