ชป. ระดมความพร้อมรับมือพายุดีเปรสชั่น
กรมชลประทาน สั่งการโครงการชลประทานทั่วประเทศ เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน หลังกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศแจ้งเตือน คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณภาคอีสาน ตั้งแต่วันนี้(2 ก.ย. 62)เป็นต้นไป
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 2 เมื่อเวลา 19.00 น. ของวานนี้ (1 ก.ย. 62) พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีจุดศูนย์กลางอยู่ห่างออกไปทางตะวันออกของเกาะไหหลำ ประเทศจีน ประมาณ 300 กิโลเมตร ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุระดับ 3 (พายุโซนร้อน) และเคลื่อนตัวเข้าสู่เกาะไหหลำ ในวันนี้( 2 ก.ย. 62) ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ นั้น
กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน โดยได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบปัญหากับอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุ “โพดุล” ขอให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังให้เร็วที่สุด พร้อมกันนี้ ให้ทุกโครงการชลประทานคอยติดตาม ตรวจสอบระบบชลประทานให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมไปถึงการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด พร้อมกับปรับการระบายน้ำให้เหมาะสม โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ และไม่กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ติดตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สสน.)อย่างใกล้ชิด รวมทั้งบูรณาการทำงานร่วมกับกับผู้ว่าราชการจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์
สำหรับการเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม นั้น กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และเครื่องผลักดันน้ำ ประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ว สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมเดิมจากอิทธิพลของพายุ “โพดุล” อาจได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นหากพบข้อสงสัยหรือต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อสอบถามหรือร้องเรียนได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วน กรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-อุตุฯ เตือน! ฉบับ 1 พายุระดับ 2 'ดีเปรสชัน' ทำอีสานมีฝนเพิ่มมากขึ้น
-อุตุฯ เผยเหนือ อีสาน กลาง ใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนหนักบางแห่ง กทม.-ปริมณฑล 70%
-เตือนฉบับ 16 พายุโพดุลปกคลุมเลย ฝนตกหนัก 43 จังหวัด
-น้ำท่วมอ.บ้านไผ่ 100 หลังคาเรือน พิษพายุโพดุล