สทนช. เตรียมเปิดเวทีรับฟังฯ ทั่วประเทศ เก็บค่าน้ำตามกฏหมายน้ำฉบับใหม่
จำกัดเฉพาะการใช้น้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น และการใช้น้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง
นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ได้มีผลใช้บังคับแล้ว เว้นแต่บทบัญญัติในหมวดที่ 4 เรื่องการจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ ที่ให้ใช้บังคับเมื่อประกาศใช้กฏหมายไปแล้ว 2 ปี หรือจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคมปี 2564
โดยมาตรา 40-55 มีรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญการจัดสรรน้ำ การแบ่งประเภทการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะ และการออกใบอนุญาตการใช้น้ำ ซึ่ง สทนช. ได้เร่งศึกษาเพื่อจัดทำหลักเกณฑNและเงื่อนไข การจัดสรรน้ำ การใช้น้ำ รวมทั้งการคิดค่าใช้น้ำและกฎหมายลำดับรอง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้
ซึ่งประเด็นเรื่องการจัดเก็บค่าน้ำ จะมีการจัดเก็บค่าใช้ “น้ำสาธารณะ” เฉพาะประเภทที่ 2 คือ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น และประเภทที่ 3 คือ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง
เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการยอมรับ และสอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วน ตลอดจนมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากที่สุด สทนช. ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคิดค่าน้ำ และจัดทำกฎหมายลำดับรอง และจะจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น เพื่อชี้แจงรายละเอียดของการดำเนินงานให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
โดยนายสำเริงกล่าวว่า การประชุมจะมีการนำเสนอภาพรวมการดำเนินงานของโครงการฯ อาทิ พื้นที่ศึกษา ขอบเขตการศึกษา ตลอดจนแผนการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไป และที่สำคัญจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และร่วมมือหาทางออก เพื่อเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางศึกษาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่และภูมิสังคม
โดย สทนช. จะดำเนินจัดประชุมกลุ่มใหญ่และกลุ่มย่อย จำนวน 5 ครั้ง รวม 47 เวที ให้ครอบคลุมทุกลุ่มน้ำให้แล้วเสร็จภายในกุมภาพันธ์ 2563
“สทนช. ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งในภาคส่วนของผู้ที่มีหน้าที่ในการอนุญาต ควบคุม ดูแล ทั้งในระดับการกำหนดนโยบาย และระดับปฏิบัติงาน รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ ที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการ
ดังนั้น การประชุมในครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสที่ดีที่ทุกภาคส่วนจะได้รับทราบข้อมูลและรายละเอียดโครงการ รวมทั้งจะได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการโครงการ เพื่อรวบรวมปัญหา ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ มาประเมินและพิจารณาประกอบการปรับปรุงโครงการให้มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติให้มากที่สุด” นายสำเริงกล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ดึงนักธุรกิจเซี่ยงไฮ้ ลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทค
-เปิดพื้นที่ลงทุนอุตสาหกรรมใหม่
-อุตสาหกรรมดิจิทัล ต้องการกว่า 1 แสนอัตรา ในพื้นที่อีอีซี
-ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมฯ ก.ค.62 ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน